
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 10 มีนาคม 2565 ที่บริเวณหน้าศาลเจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา ถนนนางงาม อำเภอเมืองสงขลา จังหวัดสงขลา นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานในพิธีสมโภชเสาหลักเมืองและพิธีเจริญพระพุทธมนต์ ตามโครงการสืบสานอัตลักษณ์เมือสงขลา (งานวันสงขลา) ประจำปี 2565 โดยมี นายเจษฎา จิตรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา หัวหน้าส่วนราชการ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา และประชาชนชาวในพื้นที่ เข้าร่วมพิธีในครั้งนี้ด้วย

จังหวัดสงขลาได้ประกาศให้วันที่ 10 มีนาคม ของทุกปี เป็นวันที่ได้อันเชิญหลักไม้ชัยพฤกษ์ลงฝังไว้ที่กลางเมืองสงขลา เป็น “วันสงขลา” เพื่อระลึกถึงการสถาปนาเมืองสงขลาปัจจุบัน และมีเจตานารมณ์เพื่อให้คนมีถิ่นกำเนิด พักพิง ศึกษาเล่าเรียน และประกอบอาชีพทุกหนแห่งในปัจจุบันได้ตระหนักมีจิตสำนึก และนำมาซึ่งการรวมพลังสร้างความรัก ความสามัคคี ดำเนินกิจกรรมร่วมกันเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินสืบไป โดยจังหวัดสงขลาได้สืบสานเจนตนารมณ์ของ “วันสงขลา” ในการรวมพลังสร้างความรัก ความสามัคคี ดำเนินกิจกรรมร่วมกันเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน โดยได้กำหนดจัดโครงการสืบสานอัตลักษณ์เมืองสงขลา (วันสงขลา) ประจำปี 2565 ระหว่างวันที่ 9-11 มีนาคม 2565

สำหรับเสาหลักเมืองสงขลาถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนไทยเชื้อสายจีนทั้งในจังหวัดสงขลา และจังหวัดใกล้เคียง โดยความเป็นมาของเสาหลักเมืองสงขลา จากการศึกษาหลักฐานทางประวัติศาสตร์ พบว่า เมืองสงขลาย้ายสถานที่ตั้งเมืองมาแล้ว 3 ครั้ง โดยเริ่มจากเมืองสงขลาฝั่งหัวเขาแดง ซึ่งปรากฎหลักฐานทางโบราณสถานและโบราณวัตถุหลายแห่ง แต่บ้านเมืองถูกทำลายจากภัยสงครามจนหมดสิ้น จึงย้ายเมืองมาตั้งที่ฝั่งแหลมสน แต่ต้องประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ และลักษณะภูมิศาสตร์เป็นพื้นที่ลาดชัน ไม่มีพื้นที่ราบเพียงพอในการขยายเมือง จึงย้ายเมืองอีกครั้งหนึ่งโดยข้ามทะเลมาอยู่ที่ฝั่งบ่อยาง ซึ่งเป็นเมืองสงขลาในปัจจุบัน โดยในสมัยรัชกาลที่ 3 และในประชุมพงศาวดารได้ระบุความตอนหนึ่งว่า “ครั้น ณ วันเดือน 4 ขึ้น 10 ค่ำ เวลาเช้าเก้าโมง 1 กับ 10 นาที ได้ฤกษ์ พระยาสงขลา(เถี้ยนเส้ง) กับพระครูอัษฎาจารย์พราหมณ์ได้เชิญหลักไม้ชัยพฤกษ์ลงฝังไว้ที่กลางเมืองสงขลา เป็นเสาหลักเมือง มีปรากฎอยู่จนทุกวันนี้” ซึ่งตามปฏิทินสุริยคติตรงกับวันที่ 10 มีนาคม 2385 หรือเมื่อ 180 ปีมาแล้ว
และจากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ ประเพณี วัฒนธรรมดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลา รวมทั้งการตั้งถิ่นฐานของเมืองสงขลาในอดีตอีกด้วย ภายในศาลหลักเมืองสงขลา มีองค์เทพศักดิ์สิทธิ์ที่คอยปกป้องรักษาเมืองให้พ้นภัยพิบัติต่างๆ และเป็นที่เคารพสักการะ มีองค์เทพเจ้าศักดิ์สิทธิ์ เสี่ยงฮ๋องเหล่าเอี๋ย เจ้าพ่อหลักเมืองสงขลา พระเสื้อเมือง โบ้เชงไต่เต่ พระหมอรักษา ตี่ฮู่อ๋องเอี๋ย เทพเจ้ารักษาโรค และเฉ่งจุ้ยจ้อ พระหมอเทพรักษาโรคภัยของชาวสงขลา ทั้งนี้กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนศาลหลักเมืองเป็นโบราณสถาน เมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2478 และในทุกวันที่ 10 มีนาคมจะมีการจัดสมโภชเป็นประจำทุกปี


