สายวันนี้ 27 กันยายน 2564 นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ลงพื้นที่ตรวจติดตามสถานการณ์น้ำ ที่บริเวณประตูระบายน้ำหน้าควน อำเภอหาดใหญ่จังหวัดสงขลา โดยมี นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา พร้อมด้วย นายเชาวลิต นิฒรรัตน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา นายชวกิจจ์ สุวรรณคีรี นายอำเภอหาดใหญ่ นายเดช เล็กวิชัย ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 16 นายรุทร์ อินนุพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานก่อสร้างชลประทานขนาดใหญ่ที่ 11 นางสาวดุษฎี พฤกษเศรษฐ หัวหน้าสำนักงานจังหวัดสงขลา นายนิพัฒน์ อุดมอักษร เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลาและนายปรีชัย มาละวรรณโณ ที่ปรึกษานายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา ร่วมให้การต้อนรับ
นายนิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการมหาดไทย กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการลงพื้นที่ในการเตรียมการในเรื่องของการระบายน้ำในฤดูมรสุมที่กำลังจะมาถึง ซึ่งทางภาคใต้ตอนล่างจะอยู่ในช่วงของ กลางเดือนตุลาคม จนถึงเดือน ธันวาคม ซึ่งจะมีปริมาณน้ำฝนค่อนข้างมากกว่าปกติ และเส้นทางระบายน้ำหลักขณะนี้นอกจากคลองอู่ตะเภา ก็ยังมีคลองตามแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 คือคลอง ร.1 ซึ่งเดิมระบายน้ำได้เพียง 400 กว่าคิวต่อวินาที แต่หลังจากที่เจอเหตุการณ์น้ำท่วมปี 2553 ซึ่งมีปริมาณมวลน้ำมาก ทำให้มีการขยายตัวของคลอง ร.1 จากรูปตัว V เป็นรูปตัว U ซึ่งบัดนี้โครงการดังกล่าวแล้วเสร็จกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ สามารถที่จะระบายน้ำได้ถึง 1200 ลบ/วินาที จึงมั่นใจได้ว่าถ้าปริมาณมวลน้ำไม่มากกว่าปี 2553 ก็จะสามารถป้องกันเรื่องน้ำท่วม ในพื้นที่ชุมชนและพื้นที่เศรษฐกิจของเทศบาลนครหาดใหญ่ได้ วันนี้จึงถือเป็นการเตรียมการในการที่จะดูในเรื่องของการระบายน้ำทั้งหมด ซึ่งจังหวัดสงขลาก็ได้ดูในหลายๆอำเภอ ไม่ว่าจะเป็นในคาบสมุทรสทิงพระ ซึ่งเป็นโครงการของกรมชลประทานในการแก้ปัญหาภัยแล้ง และแก้ปัญหาในเรื่องของน้ำท่วม ซึ่งได้ดำเนินการเป็นไปตามแผนงานที่วางไว้ และทุกโครงการสามารถเดินหน้าไปด้วยดี เพื่อที่จะแก้ปัญหาน้ำท่วมสงขลา อย่างเป็นระบบทั้งหมด
นิพนธ์กล่าวต่อว่า จึงต้องขอขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยกันดูแล ไม่ว่าจะเป็นกรมชลประทาน กรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย องค์การบริหารส่วนจังหวัด และท้องถิ่นในพื้นที่ ที่ต้องช่วยกันวางแผนป้องกัน เพื่อรับมือมวลน้ำดูที่จะเข้ามาในช่วงของฤดูมรสุม โดยเฉพาะทางระบายน้ำซึ่งจะลดความเสี่ยงของอุทกภัยในพื้นที่ ให้เกิดผลกระทบกับประชาชนน้อยที่สุด ทั้งนี้ตนพยายามบอกว่า การที่จะแก้ไขปัญหาในเรื่องน้ำในประเทศไทย ขอทำเพียงสองอย่างคือ สร้างที่ให้น้ำอยู่ นั่นคือ เรามีมวลน้ำในฤดูฝน เราก็ต้องกักเก็บน้ำไว้ใช้ หาที่ให้น้ำได้อยู่ให้มากที่สุดในยามหน้าแล้ง และทำทางให้น้ำไหล นั่นคือ การที่เรากำหนดเส้นทางเป็น คู คลองต่างๆเพื่อให้น้ำได้ระบายลงสู่ทะเลได้เร็วที่สุด เพื่อไม่ให้น้ำได้ท่วมบ้านเรือน หรือไร่ นา สวนของประชาชน ซึ่งทั้งสองอย่างนี้ ได้เดินหน้ากันอย่างเต็มที่ในขณะนี้
สำหรับโครงการบรรเทาอุทกภัยอำเภอหาดใหญ่ ระยะที่ 2 เป็นการปรับปรุงคลอง ร.1 เดิมระบายอยู่ที่ 465 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งจะปรับปรุงให้ระบายน้ำได้ 1,200 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ทั้งนี้ ในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ มีคลองอู่ตะเภาที่ไหลผ่านอำเภอหาดใหญ่ โดยในปี 2553 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ ขณะนั้นมวลน้ำที่ไหลมาลงคลองอู่ตะเภาประมาณ 1,600 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ในขณะที่คลองอู่ตะเภาสามารถระบายน้ำได้เพียง 465 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่ง จึงเป็นที่มาของการปรับปรุงคลอง ร.1 เมื่อการระบายน้ำของ คลอง ร.1 และคลองอู่ตะเภา รวมกันแล้วจะทำให้สามารถระบายน้ำได้ 1,660 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ขณะนี้ ความคืบหน้าการดำเนินงานของโครงการ คิดเป็นร้อยละ 91.5 คาดว่าจะแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี 2565 อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการดำเนินงานจะยังไม่เสร็จสมบูรณ์
แต่สามารถช่วยระบายน้ำในช่วงฤดูน้ำหลากที่จะมาถึงได้ จากการประเมินศักยภาพ พบว่าสามารถระบายน้ำได้ประมาณ 1,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที คาดว่าจะสามารถป้องกันบรรเทาปัญหาอุทกภัยให้กับประชาชนในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ได้ พร้อมเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำรองในช่วงฤดูแล้งอีกด้วย