วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

นายกรัฐมนตรี ลงใต้หารือ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เพื่อต่อยอดความร่วมมือและผลักดันการพัฒนาพื้นที่ จชต. ณ ด่าน สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส

วันที่ 3 สิงหาคม 2567 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะ เดินทางลงพื้นที่จังหวัดนราธิวาส เพื่อพบปะหารือกับดาโตะ เซอรี อันวาร์ บิน อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก ที่ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และเมืองรันเตาปันยัง ประเทศมาเลเซีย เพื่อต่อยอดความร่วมมือและผลักดันการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทั้งนี้นายกรัฐมนตรีได้ประชุมกลุ่มเล็กกับ นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และ นายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ / หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ในประเด็นการพัฒนาและแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนพบและหารือข้อราชการกับดาโตะ เซอรี อันวาร์ บิน อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย เกี่ยวกับโครงการก่อสร้างสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก ที่ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส และเมืองรันเตาปันยัง ประเทศมาเลเซีย เพื่อต่อยอดความร่วมมือและผลักดันการพัฒนาพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี พลเอก เจริญชัย หินเธาว์ ผู้บัญชาการทหารบก, พันตำรวจโท วรรณพงษ์ คชรักษ์ เลขาธิการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้, พลตำรวจโท ปิยะวัฒน์ เฉลิมศรี ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9, พลโท ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 / ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4, นายซาการียา สะอิ สส.นราธิวาส เขต 4 พรรคภูมิใจไทย และนายฐนัตถ์ สุวรรณานนท์ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ร่วมติดตามคณะในครั้งนี้

สำหรับความคืบหน้าโครงการก่อสร้างสะพานคู่ขนานข้ามแม่น้ำโก-ลก ที่ด่านศุลกากรสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาสทางหลวง (ฝ่ายวิชาการ) ได้มีการประชุมประสานความร่วมมือกันมาตามลำดับ ล่าสุดมีการหารือถึงรูปแบบการก่อสร้าง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ในเดือนเมษายน 2568 จะใช้เวลาในการก่อสร้างประมาณ 2 ปี ทั้งนี้ หากการก่อสร้างสะพานแล้วเสร็จ มั่นใจจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนของทั้งสองฝั่ง เพิ่มปริมาณการค้าการลงทุน การท่องเที่ยว และความเชื่อมโยงระหว่างสองประเทศ

ทั้งนี้ การพบปะหารือของนายกรัฐมนตรีทั้ง 2 ประเทศ ทำให้เห็นภาพการสานสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างกันของไทย-มาเลเซีย อีกทั้งการสร้างสะพานคู่ขนานไทย-มาเลเซีย (สุไหงโก-ลก-รันเตาปันยัง) จะช่วยส่งเสริมด้านการท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี เพราะการเดินทางสะดวกสบายมากขึ้น สอดรับกับการเชื่อมโยงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ซึ่งนับเป็นจุดสำคัญในมิติการท่องเที่ยวในพื้นที่