วันศุกร์, 10 มกราคม 2568

นักวิจัย มรภ.สงขลา ร่วมศึกษาสถานการณ์อุบัติภัยที่เกิดกับนักท่องเที่ยวและคนในพื้นที่เกาะยอ ควบคู่ศึกษาการจัดการการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 เตรียมต่อยอดสู่การสร้างแอปพลิเคชัน ช่วยแจ้งเหตุด่วนทันท่วงที

“ผศ.วุฒิชัย อินทร์แก้ว” อาจารย์คณะวิทยาการจัดการ มรภ.สงขลา จับมือเครือข่ายนักวิจัยร่วมศึกษารูปแบบการจัดการอุบัติภัยอย่างมีส่วนร่วมที่เกิดกับนักท่องเที่ยวและคนในชุมชนเกาะยอ ควบคู่ศึกษาวิจัยการจัดการการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 พร้อมเตรียมต่อยอดสู่การสร้างแอปพลิเคชัน ช่วยนักท่องเที่ยวแจ้งเหตุด่วนทันท่วงที

ผศ.วุฒิชัย อินทร์แก้ว อาจารย์ประจำหลักสูตรคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า ตนได้ร่วมศึกษาวิจัยรูปแบบการจัดการอุบัติภัยอย่างมีส่วนร่วมที่เกิดกับนักท่องเที่ยวและคนในชุมชนเกาะยอ อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา ร่วมกับเครือข่ายนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และ มหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์ โดยการสนับสนุนจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (กองทุนส่งเสริม ววน.) เพื่อศึกษาสถานการณ์อุบัติภัยที่เกิดกับนักท่องเที่ยว และคนในพื้นที่เกาะยอ รวมถึงการจัดการการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 เพื่อสร้างและประเมินรูปแบบการจัดการอุบัติภัย โดยการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่

ผศ.วุฒิชัย กล่าวว่า จากการลงพื้นที่สืบค้นข้อมูล ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และผู้ที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เกี่ยวกับสถิติการเกิดอุบัติเหตุในพื้นที่เกาะยอ พบว่าจำนวนอุบัติเหตุทางบกเกิดขึ้นบ่อยครั้ง โดยจุดเกิดเหตุส่วนใหญ่จะอยู่ที่สะพานติณสูลานนท์ วัดแหลมพ้อ บริเวณทางโค้ง ซึ่งสาเหตุมาจากการขับขี่เร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และดื่มสุราขณะขับขี่ ส่วนพื้นที่บริเวณชุมชนปัจจัยเสี่ยงมาจากสภาพถนนบางเส้นทางไม่มีไฟจราจร และป้ายบอกเส้นทาง ขณะที่อุบัติทางน้ำหากเปรียบเทียบกับสถิติการเกิดอุบัติเหตุทางบกมีจำนวนน้อย จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นจึงเป็นที่มาของความสนใจในการศึกษารูปแบบการจัดการอุบัติภัยที่เกิดกับนักท่องเที่ยวและคนในชุมชน ทางทีมวิจัยจึงได้รวบรวมข้อมูลของผู้ที่เกี่ยวข้องด้วยวิธีการขั้นตอนต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และนักท่องเที่ยว เพื่อให้ชุมชนมีการแก้ไขปัญหาด้วยตนเองอย่างยั่งยืน

การศึกษาครั้งนี้เพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจ และนำไปใช้เป็นแนวทางสู่การปฏิบัติให้เป็นรูปธรรม ในการป้องกันและจัดการอุบัติภัยทั้งทางบก ทางน้ำ และมาตรการป้องกันเชื้อไวรัสโควิด-19 ด้วยหลักการใช้แนวคิด 3 ป สู่การพัฒนาความปลอดภัย ได้แก่ ป 1 ปลูกสํานึกอันตราย (spot of hazard) ป 2 ประเมินความเสี่ยง (assess the risk) ป 3 ปรับปรุงให้ปลอดภัย (make the change) ด้วยการการนําเสนอรูปแบบ การจัดการอุบัติภัยอย่างมีส่วนร่วมของภาคีภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน มาตรการในการ ป้องกันและลดการเกิดอุบัติภัยทางบก ทางน้ำ โรคระบาดโควิด-19 ที่ควรดําเนินการ

มิติที่ 1 มาตรการในการป้องกันและลดการเกิดอุบัติภัยทางบก-ทางน้ำ ควรจัดทําแผนยุทธศาสตร์ เพื่อสร้างความร่วมมือ จัดทําคู่มือ เอกสาร สื่อประชาสัมพันธ์ แจกจ่ายตามจุดต่าง ๆ ตั้งศูนย์ช่วยเหลือ นักท่องเที่ยว ติดตั้งอุปกรณ์อํานวยความปลอดภัยทางถนน-ทางน้ำ และติดตามและประเมินผล

มิติที่ 2 มาตรการป้องกันโรคระบาดโควิด-19 ควรดําเนินการคัดกรอง ณ จุดต่าง ๆ ประชาสัมพันธ์ ข่าวสารและรณรงค์ในการป้องกันการแพร่ระบาด จัดให้มีหน่วยงานให้ความช่วยเหลือ ที่สําคัญ คือการจัดตั้งศูนย์การเยียวยาผู้ประสบภัยกรณีเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น

นอกจากนี้ ทีมวิจัยยังได้มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ว่า ภาครัฐควรออกมาตรการป้องกันโควิด-19 ที่เคร่งครัดกับนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติ กำหนดบทลงโทษที่ร้ายแรงแก่นักท่องเที่ยวที่ฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของสถานที่ท่องเที่ยว พร้อม ๆ กับควรมีการจัดอบรมเพื่อให้ความรู้และการป้องกันอย่างถูกวิธี รวมถึงกฎ ระเบียบ และข้อบังคับในการปฏิบัติตนขณะท่องเที่ยวในพื้นที่ด้วย

ส่วนข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป คือ การจัดทำแผนยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวใน 2565-2570 เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาว ทั้งนี้ ทีมวิจัยจะพัฒนาต่อยอดสร้างการท่องเที่ยวที่ปลอดภัย ประเมินสถานที่เสี่ยงอันตราย เพื่อเข้าไปปรับปรุงให้ดีขึ้น ซึ่งในอนาคตเตรียมสร้างแอปพลิเคชันสำหรับนักท่องเที่ยว ในการแจ้งเหตุด่วนได้อย่างทันท่วงทีต่อไป