รองศาสตราจารย์ ดร.ชินีเพ็ญ มะลิสุวรรณ หัวหน้าโครงการวิจัยเรื่อง การจัดการการท่องเที่ยวต้นแบบเพื่อมุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา อาจารย์ภัทรวดี เอียดเต็ม อาจารย์ ดร.เมธิยา หมวดฉิม ทีมนักวิจัย ร่วมกับนักศึกษาหลักสูตร วิทยาศาตรบัณฑิต สาขาสาธารณสุขศาสตร์ แขนงอาชีวอนามัยและความปลอดภัย แขนงอนามัยสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา เข้าร่วมการจัดงาน Amazean Jungle Thailand by UTMB 2024 ระหว่างวันที่ 3-5 พฤษภาคม 2567 และขับเคลื่อนกิจกรรมรักษ์โลก รักษ์เบตง ซึ่งประกอบด้วย การตอบคำถามการเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อรับใบประกาศนียบัตรการมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การจัดเสริฟสลัดโรลให้กับนักท่องเที่ยว
จากผักและวัตถุดิบในพื้นที่อำเภอเบตง การจัดการขยะระหว่างเส้นทางวิ่งเทรลทั้ง 13 จุด เช่น เทือกเขาสันกาลาคีรี จุดชมวิวทะเลหมอกจาเราะกางา จุดชมวิวทะเลหมอกฆูนุงซีลีปัต เป็นต้น และการจัดการขยะบริเวณจุดปล่อยตัวนักกีฬา ร่วมกับ UTMB (Ultra Trail Du Mont Blanc) รวมไปถึงการใช้แอปพลิเคชัน ZERO CARBON สำหรับการประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและการชดเชยคาร์บอนจากกิจกรรมท่องเที่ยว เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์
สำหรับกิจกรรมทั้งหมดที่ขับเคลื่อนในงาน Amazean Jungle Thailand by UTMB 2024 มีวัตถุประสงค์เพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และส่งผลกระทบเชิงบวกต่อการจัดการการท่องเที่ยว ซึ่งกิจกรรมทั้งหมดเป็นการขยายผลงานวิจัยเรื่อง การจัดการการท่องเที่ยวต้นแบบเพื่อมุ่งสู่การท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา จากการสนับสนุนทุนวิจัยของหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ทั้งนี้ จากการให้ข้อมูลของนายอำพล พงศ์สุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า การจัดการแข่งขันวิ่งเทรล Amazean Jungle Thailand by UTMB 2024 ถือว่าเป็นการจัดงานวิ่งระดับโลก เพราะได้รับการรับรองมาตรฐานจาก UTMB : Ultra Trail du Mont Blanc ที่เป็นผู้จัดงานวิ่งเทรลที่ใหญ่ที่สุดในโลก ให้เป็น 1 ในสนาม UTMB world series สนามที่ 2 ของประเทศไทย ต่อจากสนามวิ่งเทรล ดอยอินทนนท์ อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ และเป็น 1 ใน 27 สนามทั่วโลก และให้ใช้ชื่อใน UTMB world series เป็น Amazean jungle Thailand by UTMBโดยการจัดงานครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่ 2 โดยครั้งแรกจัดเมื่อปี 2566 นับว่าประสบความสำเร็จได้เป็นอย่างดี โดยในครั้งนั้นมีนักวิ่งเทรลเข้าร่วมโครงการ จำนวน 2,539 คน จาก 48 ประเทศทั่วโลก กระตุ้นเศรษฐกิจได้มากถึง 243 ล้านบาท และในปีนี้มีผู้เข้าร่วมการแข่งขันทั้งหมด 3,480 คน จาก 48 ประเทศทั่วโลก มากสุดจากประเทศมาเลเซีย จีน สิงคโปร์ เวียดนาม ญี่ปุ่น ฝรั่งเศส และคนไทย โดยคาดว่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจได้กว่า 300 ล้านบาท