วันจันทร์, 30 ธันวาคม 2567

นักวิจัยมหาวิทยาลัยทักษิณ ค้นพบพืชกระท่อมมีแนวโน้มช่วยรักษาผู้ป่วย “โรคอัลไซเมอร์”

จากพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ พ.ศ. 2564 โดยเหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้ คือ ในหลายประเทศมิได้กำหนดให้ พืชกระท่อมเป็นยาเสพติดให้โทษประกอบกับอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ. 1961 และพิธีสาร แก้ไขอนุสัญญาเดี่ยวว่าด้วยยาเสพติดให้โทษ ค.ศ.1972 มิได้กำหนดให้ “กระท่อม” เป็นยาเสพติด ให้โทษ สมควรยกเลิกพืชกระท่อมจากการเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 จึงจำเป็นต้องตรา พระราชบัญญัตินี้ ส่งผลให้พืชกระท่อมได้รับความสนใจจากสังคมมากขึ้นทั้งในแง่ของสรรพคุณทางยา และการนำไปใช้ประโยชน์ในการรักษาทางการแพทย์  งานวิจัยเรื่อง “ศักยภาพของสารไมทราไจนีนต่อการยับยั้งเอนไซม์อะซีติลโคลีนเอสเทอเรสของโรคอัลไซเมอร์” ของทีมผู้วิจัยจากคณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนิตา ก้งซุ่น ,ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เนตรนภา แซ่หลี ,ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อัษฎาวุษ หิรัญรัตน์ และนางสาววันสิริ อินทร์นอก จะชี้ให้เราเห็นถึงอีกหนึ่งสรรพคุณที่สำคัญของพืชกระท่อมในการช่วยรักษาผู้ป่วย “โรคอัลไซเมอร์” ได้อย่างน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พนิตา ก้งซุ่น อาจารย์ประจำสาขาวิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับจุดเริ่มต้นของการทำวิจัยเรื่องนี้ว่า ได้ร่วมกับทีมนักวิจัยโดยเล็งเห็นความสำคัญของการวิจัยเกี่ยวกับการบรรเทาโรคที่เกิดในกลุ่มผู้สูงอายุ คือโรคอัลไซเมอร์ โดยใช้ประโยชน์จากสมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ซึ่งโรคอัลไซเมอร์เป็นภาวะสมองเสื่อมที่พบได้บ่อยที่สุด โดยส่วนใหญ่พบในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 65 ปีขึ้นไป สาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคอัลไซเมอร์เกิดจากการลดลงของสารสื่อประสาทอะซิติลโคลีนที่ถูกทำลายลงด้วยเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรส ยาที่พบว่าได้ผลดีในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ คือยาต้านเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรส อย่างไรก็ตามยาเหล่านี้ก็ยังส่งผลข้างเคียงหลายอย่าง ดังนั้นในงานวิจัยนี้จึงสนใจคัดกรองสารอัลคาลอยด์และฟลาโวนอยด์จากสมุนไพรไทยบางชนิดที่สนใจต่อการยับยั้งเอนไซม์ อะซิติลโคลีนเอสเทอเรสด้วยเทคนิคโมเลกุลาร์ด็อกกิ้ง แล้วเลือกสมุนไพรที่มีสารทีเกิดพลังงานยึดจับสูงสุดกับเอนไซม์อะซิติลโคลีนเอสเทอเรสมาสกัดและทดสอบฤทธิ์ในห้องปฏิบัติการรวมถึงศึกษาด้วยระเบียบวิธีพลวัติเชิงโมเลกุลเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในการยับยั้งการทำงานของเอนไซม์ดังกล่าวด้วยสารออกฤทธิ์ที่สกัดมาจากสมุนไพรที่คัดกรองมาซึ่งสามารถใช้เป็นแนวทางให้เกิดประโยชน์ในด้านการแพทย์และเภสัช รวมถึงสามารถช่วยลดเวลาและงบประมาณในการทดลองในห้องปฏิบัติการได้

สำหรับงานวิจัยนี้เริ่มต้นด้วยการคัดกรองสารอัลคาลอยด์ 50 ชนิด และฟลาโวนอยด์ 35 ชนิดจากจากสมุนไพรไทยต่อการยับยั้งเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรส (AChE) ของโรคอัลไซเมอร์ ด้วยเทคนิคโมเลกุลาร์ด็อกกิ้ง ผลจากการคัดกรองพบว่า ไมทราไจนีน ออกซิโดล บี (MITOB) และสารไมทราไจนีน (MIT) ซึ่งเป็นสารอัลคาลอยด์หลักในใบพืชกระท่อม มีประสิทธิในการยึดจับกับเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรสได้ดีที่สุด ดังนั้นจึงทำการจำลองพลวัตเชิงโมเลกุลเพื่อศึกษาพฤติกรรมเชิงพลวัติ พันธะไฮโดรเจนและพลังงานเสรีในการยึดจับ เปรียบผลที่ได้จากจำลองของสารทั้งสองพบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้นจึงทำการสกัดสารไมทราไจนีนเนื่องจากเป็นสารหลัก เพื่อทดสอบฤทธิ์ยับยั้งเอนไซม์อะซิติลโคลีนเอสเทอเรส จากการทดลองพบว่าสารไมทราไจนีน มีค่า pIC50 เท่ากับ 3.57 ซึ่งมีศักยภาพพอที่จะพัฒนาเป็นยาต้าน AChE ในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ได้”

          ส่วนแนวทางการต่อยอดงานวิจัยสู่นวัตกรรมการรักษาผู้ป่วยอัลไซเมอร์ หรือการพัฒนาสู่เชิงพานิชย์ ยังจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมในส่วนของการยับยั้งกิจกรรมของเอนไซม์อะซิติลโคลีนเอสเทอเรสด้วยสารไมทราใจนีนในพืชใบกระกระท่อมในสัตว์ทดลอง รวมถึงในผู้ป่วยจริง ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น ความเป็นพิษ ปริมาณที่เหมาะสมต่อการออกฤทธิ์ ฯลฯ  เพื่อจะนำไปสู่การพัฒนาเป็นยาหรือสมุนไพรทางเลือกในการรักษาโรคอัลไซเมอร์ต่อไปในอนาคต สามารถอ่านงานวิจัยฉบับเต็มได้ที่ https://doi.org/10.1007/s10822-020-00372-4

Innok, W., Hiranrat, A., Chana, N., Rungrotmongkol, T., & Kongsune, P. 2021. In silico and in vitro anti-AChE activity investigations of constituents from Mytragyna speciosa for Alzheimer’s disease treatment. Journal of Computer-Aided Molecular Design. 35: 325–336.