วันเสาร์, 16 พฤศจิกายน 2567

นวัตกรรมน้ำนมถั่วหรั่ง (Babara Milk)คว้ารางวัลชนะเลิศ “The Best U2T Innovation Award”

มหาวิทยาลัยทักษิณ จัดประกวดสุดยอดนวัตกรรมชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก The Best U2T Innovation Award ในงาน “TSU2T Innovation Fair”เพื่อเฟ้นหานวัตกรรมชุมชนที่จะสามารถต่อยอดไปสู่เชิงพานิชย์ที่จะสร้างประโยชน์ให้กับชุมชน โดยมีนวัตกรชุมชนจาก 65 ตำบลในพื้นที่ของจังหวัดพัทลุงและสงขลา นำผลงานนวัตกรรมของตำบลเข้าร่วม Pitching ต่อคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ผลปรากฏว่า
ทีม Babara Milk จากตำบลคลองเฉลิม อำเภอกงหรา จังหวัดพัทลุง ผลงานนวัตกรรมน้ำนมถั่วหรั่ง (Babara Milk) คว้ารางวัลชนะเลิศไปครอง ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 50,000 บาท พร้อมโล่เชิดชูเกียรติจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ

รางวัลรองชนะเลิศอันดับ1 ได้แก่ ทีมเฌอ จากตำบลชุมพล อำเภอศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ผลงานนวัตกรรมธนาคารขยะ 4.0 ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 30,000 บาท พร้อมโล่เชิดชูเกียรติจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ2 ได้แก่ KHOTAO MARKET จากตำบลเกาะเต่า อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง ผลงานนวัตกรรมหัตถกรรมเชือกกล้วยสานใจรัก ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 20,000 บาท พร้อมโล่เชิดชูเกียรติจากอธิการบดีมหาวิทยาลัยทักษิณ
รางวัลชมเชย ได้แก่ ทีมก๊ะขายแหนม จากตำบลแม่ขรี อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง ผลงานนวัตกรรมแหนมปลา ได้รับเงินรางวัลมูลค่า 5,000 บาท
โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร. ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ ให้เกียรติมอบรางวัลแก่นวัตกรชุมชนที่ได้รับรางวัลจากกิจกรรมและกล่าวปิดงาน

  รองศาสตราจารย์ ดร. ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ กล่าวว่า  โครงการ U2T มีระยะเวลาการดำเนินงานเกือบ 1 ปี ทุกคนต่างทุ่มเทแรงกายแรงใจในการพัฒนาพื้นที่ทั้ง 65 ตำบลของจังหวัดพัทลุงและสงขลา และหลังจากนี้ ไม่ใช่แต่เฉพาะจังหวัดพัทลุงและสงขลา เท่านั้น แต่จะขยายการทำงานด้านนวัตกรรมชุมชน การพัฒนาเชิงพื้นที่ โครงการนวัตกรรมสังคมไปยังพื้นที่อื่นๆด้วย เพื่อมุ่งหวังให้เป็นมหาวิทยาลัยของภาคใต้และของประเทศต่อไป ซึ่งตลอด 1 ปีที่ผ่านมา เราทำงานก้าวข้ามขีดจำกัดและสร้างโอกาสใหม่ๆอันมากมายในท่ามกลางวิกฤตการณ์โควิด-19 เราพิสูจน์ให้เห็นว่า แม้จะมีสภาวะวิกฤตปัญหา และสถานการณ์ที่ไม่เอื้อต่อการทำงาน แต่พวกเราก็สามารถที่จะก้าวข้ามขีดจำกัดอันมากมายเหล่านี้ได้ด้วยพลัง ศักยภาพ และความร่วมมือของทุกคน และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในปีต่อไปมหาวิทยาลัยทักษิณจะนำพาทุกคนไปร่วมกันวาดขอบฟ้าใหม่ ขอบฟ้าที่จะนำไปสู่การทำให้พื้นที่ทั้งพัทลุง สงขลาและพื้นที่อื่นๆ เป็นพื้นที่ที่เข้มแข็ง สามารถจัดการตนเองได้อย่างมีคุณภาพ โดยมหาวิทยาลัยทักษิณจะร่วมมือกับทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อน 

 สำหรับงาน “TSU2T Innovation Fair : นวัตกรรมชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ จัดขึ้นเพื่อสร้างพื้นที่กลางในการจัดแสดงสุดยอดนวัตกรรมเด่นจากการดำเนินโครงการ สำหรับใช้เป็นต้นแบบในการพัฒนาพื้นที่จังหวัดพัทลุงและจังหวัดสงขลา โดยมีมหาวิทยาลัยทักษิณเป็นหน่วยงานบูรณาการโครงการ (System Integrator) ประกอบด้วยกิจกรรมวิชาการ อาทิ การปาฐกถา การเสวนา การจัดนิทรรศการ การประกวดนวัตกรรมชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมภาคค่ำ เช่น การแสดงดนตรีและศิลปะพื้นบ้านจากศิลปินชั้นนำระดับประเทศ โดยจัดขึ้นระหว่างวันที่ 26-29 ธันวาคม 2564  ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง อำเภอป่าพะยอม จังหวัดพัทลุง