วันอังคาร, 26 พฤศจิกายน 2567

“ทีมดอกปาริฉัตร” มรภ.สงขลา ผงาดเวทีประกวด “MHESI MUSIC VARIETY AWARD 2024” คว้ารองชนะเลิศอันดับ 1 พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท จากชุดการแสดง “Soft Power สงขลาสู่เมืองมรดกโลก” สะท้อนรากฐานวัฒนธรรมพื้นถิ่น

“ทีมดอกปาริฉัตร” มรภ.สงขลา โชว์ฟอร์มยอดเยี่ยมเวทีประกวด “MHESI MUSIC VARIETY AWARD 2024” รอบชิงชนะเลิศ ระดับประเทศ นำการแสดงชุด “Soft Power สงขลาสู่เมืองมรดกโลก” คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 เงินรางวัล 50,000 บาท พร้อมกวาดคำชมล้นหลามจากกรรมการ ภายใต้แนวคิดผสมผสานความงดงามจากรากฐานวัฒนธรรมพื้นถิ่น

เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2567 ทีมดอกปาริฉัตร จากมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ภายใต้การควบคุมดูแลโดยคณาจารย์คณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา นำการแสดงชุด “Soft Power สงขลาสู่เมืองมรดกโลก” คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จากการประกวด “MHESI MUSIC VARIETY AWARD 2024” ระดับอุดมศึกษา รอบชิงชนะเลิศ ระดับประเทศ ในงาน อว.แฟร์ : Sci Power For Future Thailand จัดโดย กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร รับถ้วยรางวัลจาก นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท ซึ่งได้รับเสียงชื่นชมจากคณะกรรมการอย่างล้นหลาม และได้นำเสนอดนตรี วัฒนธรรม อัตลักษณ์ท้องถิ่นภาคใต้อันงดงาม ให้ปรากฏสู่สายตาประชาคม

ในฐานะที่ มรภ.สงขลา เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มีพันธกิจในการส่งเสริม เผยแพร่ อนุรักษ์ สืบสาน และสร้างสรรค์ ศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น คณะดอกปาริฉัตร คณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา จึงนำการพัฒนาเมืองสงขลาสู่เมืองมรดกโลก มาเป็นแนวคิดในการสร้างสรรค์การแสดงชุด “Soft Power สงขลาสู่เมืองมรดกโลก” ซึ่งทางจังหวัดมีนโยบายการพัฒนาเมืองร่วมกัน ส่งผลให้ทุกภาคส่วนในพื้นที่ของ จ.สงขลา รวมพลังกันพัฒนาเมืองไปด้วยกันในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่ ด้านประวัติศาสตร์สงขลา ด้านศิลปวัฒนธรรม ด้านอาหาร ด้านผลิตภัณฑ์ ด้านสังคมพหุวัฒนธรรม ด้านการท่องเที่ยว เป็นต้น

สำหรับเนื้อหาของการสร้างสรรค์การแสดง คณะดอกปาริฉัตรนำเสนอเรื่องราวความงดงามของเมืองสงขลาในด้านต่าง ๆ อาทิ ลักษณะทางกายภาพของเมือง ประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรม ประติมากรรม อาหาร ผลิตภัณฑ์ สถานที่ท่องเที่ยว ศิลปวัฒนธรรม วิถีชีวิตรูปแบบสังคมพหุวัฒนธรรม ไทยพุทธ ไทยมุสลิม ไทยจีน โดยเล่าเรื่องราวผ่านบทเพลงจำนวน 3 บทเพลงที่สร้างสรรค์ขึ้นใหม่ การสร้างสรรค์การแสดงทั้ง 3 บทเพลงใช้การแสดงพื้นบ้านภาคใต้ 4 ประเภท คือ โนรา รองเง็ง ลิเกฮูลู หนังตะลุง โดยนำท่ารำท่าเต้นพื้นบ้านดั้งเดิมมาสร้างสรรค์ให้สอดคล้องกับแนวคิดและเนื้อหาของบทเพลง นอกจากนั้น ยังใช้การแสดงจีนร่วมสมัยมาผสมผสานด้วย

ในส่วนของการสร้างสรรค์ดนตรีพื้นบ้านภาคใต้ร่วมสมัย เป็นการผสมผสานของดนตรีพื้นบ้านภาคใต้กับดนตรีตะวันตกการผสมผสานดนตรีต่างวัฒนธรรมเข้าด้วยกันโดยอาศัยการประพันธ์เพลงขึ้นมาใหม่ และการเรียบเรียงจากวัตถุดิบทางดนตรี ไม่ว่าจะเป็นจังหวะและทำนองเพลงพื้นบ้านภาคใต้ดั้งเดิมที่มีอยู่แล้วนำมาเรียบเรียงใหม่ให้เหมาะสม โดยคำนึงถึงระดับช่วงเสียงของนักร้องและปี่ใต้ ตลอดจนศักยภาพของนักดนตรีสมาชิกในวงทุกคน สิ่งสำคัญอีกประการคือการออกแบบดนตรีให้เข้ากับเนื้อหาความหมาย เรื่องราว เสียงสำเนียงลีลาของบทเพลงให้สอดคล้องกับการแสดงที่มีความหลากหลายในรูปแบบสังคมพหุวัฒนธรรมของคนสงขลา ตามแนวความคิดของการแสดงชุด “Soft Power สงขลาสู่เมืองมรดกโลก”

ทั้งนี้ คณะผู้สร้างสรรค์ดนตรีและการแสดงของคณะคณะดอกปาริฉัตร ประกอบด้วย คณะผู้อำนวยการฝึกซ้อม รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา รศ.ดร.วีระชัย แสงฉาย รองอธิการบดีฝ่ายวางแผนและงบประมาณ ผศ.วีระศักดิ์ อักษรถึง คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ อ.พุฒิธร ตุกเตียน ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา คณะผู้ควบคุมและฝึกซ้อมดนตรี อ.ดร.ชุมชน สืบวงศ์ อ.ภูษิต สุวรรณมณี อ.ดร.สุทธิรักษ์ เอียดปุ่ม อ.สิทธิโชค กบิลพัตร อ.สหภัส อักษรถึง อ.ธีรวุฒิ แก้วมาก อ.ดร.สุณิสา ศิริรักษ์ อ.ดร.สกลพัฒน์ โคตรตันติ ผศ.ดร.ไชยวุธ โกศล คณะผู้ควบคุมและฝึกซ้อมการแสดง ผศ.ทัศนียา คัญทะชา อ.ยุทธพงศ์ ช่วยนาเขต อ.ญาณิกา ศรีญามา อ.รัชยา วีรการณ์ ฝ่ายอุปกรณ์ และสื่อประกอบการแสดงและระบบแสง อ.วงศ์วรุตม์ อินตะนัย อ.ดร.พีรพงษ์ พันธะศรี อ.ดร.ศุภฤกษ์ เวศยาสิรินทร์ ผู้ทรงคุณวุฒิและปราชญ์ด้านดนตรีและการแสดงพื้นบ้าน ดร.กำจร กาญจนถาวร ผู้เชี่ยวชาญด้านรวมวง นายอภิชาติ คัญทะชา ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีรองเง็ง คณะอัสลีมาลา นายศักรรัตน์ วงศ์สีแก้ว ผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีรองเง็งและดนตรีโนรา คณะอัสลีมาลา และ นายกิตติภพ แก้วย้อย ผู้ออกแบบท่าเต้นพื้นบ้านร่วมสมัย คณะอัสลีมาลา