วันอังคาร, 21 มกราคม 2568

ชัยบุรีโมเดล : ธุรกิจเกื้อกูลไข่ไก่อารมณ์ดีแฮปปี้ฟาร์ม

ก่อนแสงแรกเดินทางมาถึง ท้องฟ้าเริ่มระบายเฉดสีมาแต่ไกล หมอกบางๆ ล่องลอยอยู่ในแสงไฟหน้ารถ เส้นทางเพชรเกษมจากสงขลาสู่พัทลุงมากหลุมบ่อ สองข้างทางผู้คนเริ่มออกมาวิ่งออกกำลังกาย เป้าหมายของข้าพเจ้าคือ “ชัยบุรีโมเดล ไข่ไก่อารมณ์ดี-แฮปปี้ฟาร์ม” พื้นที่ตำบลชัยบุรี อำเภอเมือง จังหวัดพัทลุง ภายใต้โครงการวิจัยและนวัตกรรมแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จังหวัดพัทลุง

การเดินทางเร็วกว่าที่คิด เรามีเข็มทิศและ GPS ที่แม่นยำพอ ข้าพเจ้าถือโอกาสเดินสำรวจฟาร์มไก่อารมณ์ดีในโรงเรือนสร้างใหม่ ไก่ 400 ตัว เดินไปสวนมา ส่งเสียงร้องประชันขันแข่งกับเสียงรถไถที่ไม่ต้องเดินตามเหมือนในอดีต ในนาด้านหลังฟาร์มรถไถทำเทือกรอการหว่านดำเริ่มต้นฤดูกาลไว้แล้ว แดดเช้ากำลังเดินทางมาถึง นกยางเปีย ทอดน่องจิกเหยื่อในผืนนาโดยไม่มีท่าทีเกรงกลัวผู้คน     ข้าพเจ้าเดินไปยังเวทีที่เตรียมการไว้ด้านข้าง ประดับตกแต่งด้วยฟางข้าวและไข่ไก่รุ่นแรกในตะกร้า/ชะลอมแขวนไว้ดูแปลกจากที่คุ้นเคย ก่อนหยิบไข่ไก่มาพินิจ คิดไล่ไปถึงเมื่อครั้งวัยเยาว์ราวปี พ.ศ 2529-2530 พ่อเลี้ยงไก่ไข่ในระบบฟาร์มแบบขังกรง กว่า 1,000 ตัวเป็นอาชีพเสริม ข้าพเจ้ามีหน้าที่เก็บคัดและนำไปขายในตลาดนัดกับแม่ด้วยมอเตอร์ไซค์ ความทรงจำบนถนนขรุขระ ทุลักทุเลนั้นหวนคืนมาอย่างมีความสุข
ชัยบุรีโมเดล ไข่ไก่อารมณ์ดี-แฮปปี้ฟาร์ม เป็นโมเดลปฏิบัติการ ภายใต้โครงการวิจัยและนวัตกรรมแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ จังหวัดพัทลุง ที่มหาวิทยาลัยทักษิณ ภายใต้การสนับสนุนของหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ร่วมกับองค์กรภาคีในระดับพื้นที่-ท้องที่ ท้องถิ่น และหน่วยงานราชการในระดับจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัด สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) องค์การบริหารส่วนตำบลและเครือข่ายสวัสดิการชุมชนจังหวัดพัทลุง โดยมีกลุ่มเป้าหมายในโครงการและกิจกรรมคือ ผู้ยากจนและคนจนเปราะบางในพื้นที่     การเลี้ยงไก่อยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนมาอย่างยาวนาน จากข้อมูลพบว่า คนไทยบริโภคไข่ไก่เฉลี่ยปีละเกือบ 300 ฟอง ไข่ไก่ให้คุณค่าทางโภชนาการมากมายมหาศาล แต่ไข่ไก่ในท้องตลาดส่วนใหญ่มาจากระบบฟาร์มแบบปิดขนาดใหญ่ในระบบอุตสาหกรรมและเกษตรพันธสัญญา หรือ Contract Farming มีการใช้สารเคมี ยาปฏิชีวนะอย่างเข้มข้นในการกระบวนการเลี้ยง
จากการเก็บข้อมูลและการพูดคุยแลกเปลี่ยนระหว่างนักวิจัย กลุ่มคนจนเป้าหมาย และภาคีสนับสนุน ทำให้เกิดแนวคิดการเลี้ยงแบบธรรมชาติ ให้อิสระกับไก่ ลดการพึ่งพา ใช้วัตถุดิบอาหาร วัตถุดิบความรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยมีฐานคิดพลังรวมหมู่-รวมกลุ่ม ในการจัดการกระบวนการเลี้ยง มีการจ่ายค่าแรงงานในแต่ละขั้นตอนการผลิตตามที่ตกลงกัน เช่น ค่าแรงปลูกหญ้าเป็นอาหารไก่ การเก็บแยกคัด การบรรจุ การขาย เป็นต้น     กำไรที่ได้นำไปเป็นเงินสมทบกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลชัยบุรีสำหรับสมาชิกในครัวเรือนของคนจนเป้าหมายที่เข้าร่วมโครงการ ให้สามารถเข้าสู่ระบบสวัสดิการชุมชน ของกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลชัยบุรี ที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ ปีพ.ศ. 2554 จนถึงปัจจุบันมีสมาชิก 1,910 คน มีเงินกองทุนฯ สะสมกว่า 1.4 ล้านบาท มีสวัสดิการครอบคลุมตั้งแต่เกิด แก่ เจ็บ ตาย รวมถึงมีทุนการศึกษาให้กับบุตรของสมาชิกอีกด้วย และส่วนที่เหลือก็นำไปเป็นทุนต่อยอด ขยายผลการประกอบการและกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่นๆ
 แรกเริ่มเดิมทีก่อนจะมาเป็นการบริหารจัดการแบบรวมหมู่ ได้มีการส่งเสริม สนับสนุนเลี้ยงแบบรายครัวเรือน แต่มีข้อจำกัดในหลายประการทั้งจากเงื่อนไขทางกายภาพ ศักยภาพในเชิงปัจเจก/ครัวเรือน จึงได้ปรับเปลี่ยนมาสู่การเลี้ยงรวมหมู่-รวมกลุ่ม “ไม่มีสูตรสำเร็จในการพัฒนา มีแต่ต้องค้นหาไปจนเจอสิ่งที่ใช่ และใช้สิ่งนั้นเป็นจุด Click ขยับเยื้อน เคลื่อนย้ายการเปลี่ยนแปลง กลไกสำคัญคือกลุ่มและความเชื่อมั่นกันและกันภายใน”     “กลุ่มมีศักยภาพบางอย่างที่ปัจเจกบุคคลไม่มี ช่วยเติมความมั่นใจ เพิ่มโอกาสของความสำเร็จ ทำให้เกิดความภาคภูมิ เชื่อมั่นในตัวเองมากขึ้นเรื่อย ๆ ในทุกกิจกรรมที่ลงมือ”     ด้วยระบบการเลี้ยงแบบเปิด ให้อิสระ ให้สารอาหารทางธรรมชาติที่สามารถผลิต พึ่งพาได้ในท้องถิ่น ทำให้ไข่ไก่จากฟาร์มเริ่มได้รับความสนใจจากผู้บริโภคมากขึ้น นักวิจัยให้ข้อมูลเพิ่มว่าไข่จากแม่ไก่อารมณ์ดีสาร/แร่ธาตุซีลีเนียม (Selenium) ที่มีบทบาทสำคัญในการเผาผลาญร่างการ ต่อต้านอนุมูลอิสระ ชะลอวัย เจริญพันธุ์ และมีระบบสืบพันธุ์ที่ดี เป็นต้น     “ไข่ที่ดีต้องมีสีเหลือง ไม่ใช่สีแดง” นักวิจัยย้ำและเตือนกลาย ๆ ถึงการตกอยู่ในมายาคติไข่แดงด้วยภาษา/คำว่า “ไข่แดง” ที่หมายถึงสีแดง ที่มาจากอาหารสารเคมี-สารเร่งต่าง ๆ
ถึงวันนี้ชัยบุรีโมเดล ไข่ไก่อารมณ์ดี-แฮปฟาร์ม ได้ขยายฐานกลุ่มเป้าหมายไปแล้วกว่า 50 ครัวเรือน มีผู้ได้รับผลประโยชน์จากโครงการในเชิงมูลค่ากว่า 200 คน ในเชิงคุณค่าทำให้เกิดการเกื้อกูลภายในชุมชน โดยกลุ่มกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลชัยบุรี ทำหน้าที่ดูดซับพลังทำให้เกิดการเกื้อกูลภายในชุมชน (Community Inclusive) การอยู่ร่วมกันแบบสมานฉันท์ในชุมชน (Solidarity Community) ที่สำคัญให้ความรู้สึกของความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) เห็นในสายใยของการอยู่ร่วมขยายวงออกครอบคลุมกลุ่มอื่น ๆ ในชุมชน      ข้าพเจ้ามองว่าจุดเริ่มต้นของความสำเร็จของชัยบุรีโมเดล ไข่ไก่อารมณ์ดี-แฮปปี้ฟาร์ม มาจากการพัฒนาที่ใช้พื้นที่เป็นตัวตั้งชุมชน/กลุ่มคนจนเป้าหมายมีความรู้สึกเป็นเจ้าของ เป็นพระเอกในเวทีที่สร้างทำกับมือ, ท้องถิ่น-หน่วยงานภายนอกหนุนเสริมภายใต้พันธกิจและทรัพยากรที่เหมาะสม มีกลไก (กองทุนสวัสดิการชุมชน) เป็นทุนทางสังคม ทำหน้าเป็นโครงข่ายนิรภัยรองรับและทิศทางต่อยอดในอนาคตเป็นปัจจัยสำคัญ
เมื่อเราสามารถดึงพลังและมือที่เกื้อกูลเข้ามาหนุน เสริม เติมในบทบาทที่เหมาะสมในห่วงโซ่คุณค่าการพัฒนา ให้เจ้าของปัญหาได้มีเวทีแสดงที่เข้มข้น เต็มค่ามากขึ้น ชัยบุรีจะเป็นอีกพื้นที่เรียนรู้จากวิถีชุมชนสู่ธุรกิจชุมชนเกื้อกูลในอนาคตอันใกล้     หากเชื่ออย่างที่ Paulo Freire กล่าวไว้ จงเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงรูปการจิตสำนึกจากสิ่งพูด/คำพูด ข้าพเจ้าประทับใจในคำพูดของจำเริญ แก้วประชุม ประธานกองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลชัยบุรี     “ชัยบุรีไม่มีคนจน มีแต่คนที่ต้องเกื้อกูล”     นี่ ! อาจเป็นคำและความหมายใหม่ของคำว่า “ความจน” และ “คนจน” ก็เป็นได้     ยิ่งกว่าประทับใจ จากเสียงใครคนหนึ่งในวงเสวนา     “มหาวิทยาลัยทักษิณ เข้าไปอยู่ในหัวใจของชุมชน อย่างที่ไม่เคยรู้สึกมาก่อน”
ก่อนเดินทางกลับมหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตสงขลา ข้าพเจ้าเดินทักทายบอกลาชาวชุมชนชัยบุรีและทีมงานด้วยใบหน้าเปื้อนยิ้มอย่างมีความสุขอีกครั้ง ในใจคิดแม้เส้นทางจะมากหลุมบ่อแค่ไหนก็คุ้มค่ากับการเดินทาง  ………………………………………………………………

รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ : เรื่องจักรพรรดิ เวชรังษี : ภาพ
งานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาความยากจน จ.พัทลุง