
ประเพณีชักพระเป็นประเพณีท้องถิ่นของชาวใต้ เป็นประเพณีทำบุญที่มีการอัญเชิญพระพุทธรูปออกแห่รอบเมืองในวันหลังวันออกพรรษา ซึ่งตรงกับ วันแรม 1 ค่ำเดือน 11 โดยถือเป็นการจำลองเหตุการณ์ครั้งที่พระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้วยการอัญเชิญพระพุทธรูป ขึ้นประดิษฐานบนเรือพระแล้วชักลากไปในพื้นที่ต่าง ๆ ให้ชาวบ้านได้ร่วมทำบุญ โดยเรือพระที่นำมาแห่ก็จะมีการประดับตกแต่งอย่างสวยงาม

เฉกเช่นเดียวกับในพื้นที่ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา และ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ชาวบ้าน รวมถึงส่วนราชการ ผู้นำในส่วนต่าง ๆ และเจ้าหน้าที่ทหารจาก หน่วยเฉพาะกิจกองพันทหารราบที่ 1 (ฉก.พัน.ร.ที่ 1) ได้ช่วยกันลากเรือพระที่ประดับตกแต่งอย่างปราสาทมณฑปวิจิตรงดงาม ออกจากวัดตั้งแต่เช้าตรู่ โดยเรือพระจากวัดถ้ำทะลุ เดินทางจากตำบลถ้ำทะลุ อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา ส่วนเรือพระจากวัดโคกหญ้าคา (สี่เหลี่ยม) เดินทางจากตำบลคลองใหม่ อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี ซึ่งทั้งสองขบวนเคลื่อนขบวนแห่ต่างพื้นที่กัน แต่จะเคลื่อนขบวนไปยังหมุดหมายเดียวกัน นั้นคือ ศูนย์เยาวชนเทศบาลนครยะลา ซึ่งเป็นสถานที่ชุมนุมเรือพระที่จัดขึ้นในทุก ๆ ปี เพื่อให้ประชาชนทั้งในพื้นที่ และนอกพื้นที่ได้ร่วมอนุรักษ์ และสืบสานขนบธรรมเนียมวัฒนธรรมท้องถิ่นให้อยู่คู่กับชุมชนชาวไทยพุทธในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ทหารยังจัดกำลังพลมารักษาความปลอดภัยตลอดเส้นทางที่เรือพระผ่าน เพื่อรักษาความปลอดภัยและและอำนวยความสะดวกด้านการจราจรให้กับพี่น้องประชาชนที่เข้ามาร่วมกิจกรรม