วันที่ 20 สิงหาคม 2567 เวลา 08.30 น. หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินกองทัพเรือ จัดกำลังพลชุดเสริมสร้างความเข้าใจ ร่วมกับ ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลภาค 2 โดย ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดนราธิวาส บูรณาการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบ ป้องกัน และปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายในพื้นที่ทางทะเลของจังหวัดนราธิวาส (ครั้งที่ 3) ตรวจเรือประมงทะเล เพื่อป้องกันและปราบปรามการใช้แรงงานผิดกฎหมาย การลักลอบเข้าเมือง การค้ามนุษย์ ยาเสพติด และการกระทำผิดกฎหมายทางทะเลทุกรูปแบบ โดยมี นาวาเอก กาจ บุญวิทยา รองผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดนราธิวาส เป็นประธานในการบูรณาการครั้งนี้
โดยคณะตรวจมีหน่วยงานที่ร่วมบูรณาการ จำนวน 13 หน่วยงาน ประกอบด้วย ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเลจังหวัดนราธิวาส, ศูนย์ควบคุมความมั่นคงท่าเรือจังหวัดนราธิวาส, สำนักงานประมงจังหวัดนราธิวาส, สำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 (ปัตตานี), สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดนราธิวาส, สำนักงานจัดหางานจังหวัดนราธิวาส, สถานีตำรวจน้ำ 3 กองกำกับการ 7 กองบังคับการตำรวจน้ำ (เมืองนราธิวาส), สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขานราธิวาส, ด่านศุลกากรตากใบ, ศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออก เรือประมงนราธิวาส (PIPO), นปท. นราธิวาส, หน่วยเฉพาะกิจนาวิกโยธินกองทัพเรือ (ค่ายจุฬาภรณ์) และ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในจังหวัดนราธิวาส ซึ่งใช้เรือจำนวน 3 ลำ ได้แก่ เรือ รน.531, เรือตรวจประมงทะเล 226 และ เรือทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง 223 เพื่อทำการตรวจเรือประมงในทะเลในบริเวณอ่าวไทยเขตรับผิดชอบของจังหวัดนราธิวาส มีผลการปฏิบัติงานในการตรวจเรือครั้งนี้ จำนวน 8 ลำ เป็นเรือประเภทอวนลากคู่ ได้แก่ เรืออุดมสมบัติ 1, เรืออุดมสมบัติ 3, เรือเพชรมงคล 15, เรือเพชรมงคล 16, เรือชัยมงคล 27, เรือไทยประเสริฐ, เรือธารทิพย์ 1 และเรือธารทิพย์ 2 โดยมีลูกเรือรวมทั้งหมดจำนวน 50 คน สัญชาติไทย จำนวน 13 คน และสัญชาติเมียนมา จำนวน 37 คน ซึ่งผลการตรวจสอบไม่พบการกระทำความผิดของเรือด้านแรงงานบังคับและแรงงานขัดหนี้ รวมทั้งข้อกฎหมายของหน่วยงานที่ตรวจบูรณาการร่วมแต่อย่างใด ซึ่งการลงเรือสำรวจในครั้งนี้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ขณะที่สภาพคลื่นลมในทะเลเป็นปกติ และมีลักษณะอากาศร้อนอบอ้าวโดยทั่วไป