วันจันทร์, 6 มกราคม 2568

คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา จัดอบรมยกระดับแบรนด์ “ไข่ยิ้ม” พัฒนาคุณภาพไข่เค็มกะทิสดใบเตยชุมชนบ้านด่านกลาง สู่สินค้า OTOP

คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา นำทีมวิทยากรจัดอบรมยกระดับผลิตภัณฑ์ไข่เค็มกะทิสดใบเตย ชุมชนบ้านด่านกลาง ต.เกาะแต้ว พร้อมให้ความรู้รอบด้าน หวังช่วยพัฒนาแบรนด์ “ไข่ยิ้ม” สู่การเป็นสินค้า OTOP ในอนาคต 

อาจารย์ ดร.กันตภณ มะหาหมัด คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการยกระดับผลิตภัณฑ์ไข่เค็มกะทิสดใบเตย ชุมชนบ้านด่านกลาง หมู่ที่ 10 ต.เกาะแต้ว ภายใต้โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) ระหว่างวันที่ 27-28 ตุลาคม 2564 วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาและยกระดับสินค้าชุมชนให้ได้มาตรฐาน และสร้างรายได้เสริมให้กับชุมชน กิจกรรมครั้งนี้มีตัวแทนชุมชนกลุ่มไข่เค็มกะทิสดใบเตย เข้าร่วมจำนวน 20 คน โดยมี นายย่าโกบ หละตำ กำนันตำบลเกาะแต้ว และคณาจารย์คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ร่วมเปิดโครงการ

“การสร้างมูลค่าและยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนเป็นเรื่องที่จะช่วยให้สินค้าชุมชนสามารถแข่งขันในตลาดสากลได้ องค์ความรู้ที่ชุมชนได้จากการร่วมกิจกรรมนี้ อยากให้ชุมชนนำไปใช้ในการต่อยอดยกระดับผลิตภัณฑ์ เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ไข่เค็มกะทิสดใบเตยของชุมชนบ้านด่านกลาง สามารถออกสู่ตลาดสินค้าเกษตรได้อย่างมีคุณภาพอย่างยั่งยืนต่อไป” คณบดีคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา กล่าว

อาจารย์ ดร.ผจงจิต พิจิตบรรจง วิทยากรหลักของโครงการ กล่าวถึงภาพรวมการจัดกิจกรรมทั้ง 2 วันว่าวันแรกเป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการการผลิตไข่เค็มกะทิสดให้มีคุณภาพตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ จนถึงปลายน้ำ โดยทีมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากคณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา ประกอบด้วย อาจารย์ ดร.ผจงจิต พิจิตบรรจง อาจารย์ ดร.ชำนาญ พูลสวัสดิ์ และ ผศ.ชัยยุทธ มีงาม ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับการควบคุมคุณภาพ การวางแผน การควบคุมการผลิต การลดต้นทุนการผลิต และการจัดการการขนส่งสินค้าไปยังลูกค้า พร้อมแบ่งกลุ่มฝึกปฏิบัติการ โดยมีน้อง ๆ ทีมงาน U2T ต.เกาะแต้ว เป็นผู้ช่วยในการฝึกปฏิบัติการครั้งนี้ ส่วนกิจกรรมในวันที่สอง เป็นการฝึกปฏิบัติการขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน และมาตรฐานฮาลาล โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญ นางสาวฉันทนา ลักษณะ จากสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา สมาชิกกลุ่มได้ร่วมกิจกรรมตลอดทั้งวันอย่างสนุกสนาน

ด้าน ผศ.คุลยา ศรีโยม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริการวิชาการ คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มรภ.สงขลา ในฐานะผู้ดูแลโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย) กล่าวว่าความสำเร็จของการจัดกิจกรรมครั้งนี้ เป็นการจัดกิจกรรมที่เชื่อมโยงตามแผนการพัฒนากลุ่มอาชีพต่าง ๆ ของชุมชนเกาะแต้ว เพื่อให้ทางกลุ่มสามารถต่อยอดใช้ประโยชน์ในการยกระดับผลิตภัณฑ์ของตัวเอง ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้นอยู่ที่ความร่วมมือของสมาชิกกลุ่ม ความพร้อมต่อการเรียนรู้และพัฒนาสินค้าของกลุ่มให้มีคุณภาพและได้มาตรฐาน เพื่อส่งเสริมและผลักดันสู่การยกระดับเป็นสินค้า OTOP ต่อไปในอนาคต

นางหวันเย๊าะ แก้วสุวรรณ ประธานกลุ่มไข่เค็มกะทิสดใบเตย กล่าวถึงการจัดกิจกรรมครั้งนี้ว่า ได้รับความรู้เพิ่มเติมมากมายในการผลิตไข่เค็มกะทิสดให้มีคุณภาพ การควบคุมต้นทุนให้เหมาะสม รวมถึงได้ความรู้ในการพัฒนาไข่เค็มให้ได้ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) ซึ่งเป็นความรู้ใหม่ของกลุ่ม และทางกลุ่มต้องกลับไปพัฒนาปรับปรุงกระบวนการผลิตในทุกขั้นตอนให้มีคุณภาพ เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชนของกลุ่มให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ภายใต้แบรนด์ “ไข่ยิ้ม” ซึ่งสื่อถึงความสุข เพื่อต่อยอดการสร้างรายได้เพิ่มให้กลุ่มต่อไป ผลลัพธ์ที่ได้หลังจัดกิจกรรม คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ไข่เค็มกะทิสดใบเตย มีการฝึกปฏิบัติกรอกข้อมูลเอกสารเพื่อขอรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) และยกระดับสู่สินค้า OTOP