วันศุกร์, 15 พฤศจิกายน 2567

คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา นำ นศ. เรียนรู้วิสาหกิจชุมชน ฝึกพื้นฐานด้านเกษตรและอาหาร ต่อยอดสู่ผู้ประกอบการในอนาคต

คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา นำนักศึกษาปี 1 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต ลงพื้นที่เรียนรู้วิสาหกิจชุมชนบ้านเห็ดรำแดง สวนปลักหว้า วิสาหกิจชุมชนหม่อนผลแปรรูปกลุ่มใต้ร่มบุญ ฝึกปฏิบัติการด้านเกษตรและอาหาร ต่อยอดสู่ผู้ประกอบการในอนาคต

คณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) นำนักศึกษาชั้นปีที่ 1 หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร ลงพื้นที่วิสาหกิจชุมชนบ้านเห็ดรำแดง วิสาหกิจชุมชนหม่อนผลแปรรูปกลุ่มใต้ร่มบุญ และ สวนปลักหว้า เพื่อฝึกทักษะด้านเทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร (270 ชั่วโมง) บูรณาการกับการทำงานแบบปฏิบัติงานภาคสนาม

สำหรับวิสาหกิจชุมชนเห็ดรำแดง อ.สิงหนคร จ.สงขลา ถือเป็นอีกหนึ่งความร่วมมือในการจัดการเรียนการสอนโดยชุมชนท้องถิ่น เพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงานหลักสูตร CWIE โดยนักศึกษาได้เรียนรู้การประกอบอาชีพของคนในชุมชน อาทิ การแปรรูปเห็ดทอด การตอนกิ่งฝรั่ง การคั้นน้ำอ้อย การผสมขี้เลื้อยเพื่อเตรียมอัดก้อนเห็ด และพักอยู่ร่วมกับคนในชุมชนเป็นระยะเวลา 1 เดือน ทั้งยังได้สนุกไปกับการเรียนรู้แบบเน้นทักษะปฏิบัติ ด้วยการฝึกปฏิบัติตอนกิ่งฝรั่งกิมจูและฝรั่งหงเปาสือ และตัดอ้อยเพื่อเตรียมเตรียมแปรรูปเป็นน้ำตาลอ้อย เริ่มต้นจากการฝึกพื้นฐานทางด้านการเกษตรและอาหาร เพื่อต่อยอดสู่การเป็นผู้ประกอบการในอนาคต

นอกจากนั้น นักศึกษาสาขาวิชาเทคโนโลยีการเกษตรและอาหาร ยังได้เรียนรู้ในพื้นที่จริงเกี่ยวกับการจัดการฟาร์มแบบ Zero waste ณ สวนปลักหว้า อ.คลองหอยโข่ง เพื่อให้รู้จักใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติอย่างเกิดความคุ้มค่าสูงสุด และ “ผลิตภาชนะกาบหมาก” ออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยฝึกการใช้เครื่องขึ้นรูปภาชนะจากกาบหมาก (วัสดุชีวภาพ) ซึ่งใช้แรงอัดและความร้อนในการขึ้นรูปตามแบบแม่พิมพ์ ควบคู่ไปกับการฝึกปฏิบัติงานทางด้านการเกษตร โดยฝึกปฏิบัติเพาะชำต้นหมาก การจัดการแปลงดาหลา การผลิตแก๊สชีวภาพ การทำน้ำยาล้างจาน การผลิตบรรจุภัณฑ์จากกาบหมาก และเปิดโอกาสให้นักศึกษานำวัสดุที่มีในฟาร์มมาสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรมทางด้านการเกษตร

ในส่วนของวิสาหกิจชุมชนหม่อนผลแปรรูปกลุ่มใต้ร่มบุญ ต.พะตง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา นักศึกษาได้ฝึกปฏิบัติปลูกมะเขือเทศ ปลูกผักสลัดในโรงเรือน เรียนรู้การใช้แอพพลิเคชันทางการเกษตรในการจัดการฟาร์ม การทำปุ๋ยหมัก การทำน้ำส้มควันไม้ และการเลี้ยงปลาด้วยระบบตะกอนจุลินทรีย์ (Biofloc) นอกจากนี้ นักศึกษายังได้รับโอกาสจากผู้ประกอบการในการสร้างธุรกิจจำลอง ซึ่งสามารถทำให้เกิดรายได้ในระหว่างเรียน