คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา จัดอบรมทำไข่เค็ม 4 รูปแบบ ดองน้ำเกลือ ใช้ใบเตย พอกด้วยดินแกลบ และ สูตรเร่งรัดด้วยน้ำส้มสายชู หวังพัฒนาคุณภาพชีวิตชาว ต.ชะแล้ อ.สิงหนคร ยกระดับรายได้คนในชุมชนฐานราก สร้างอาชีพเสริมตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง
ดร.มงคล เทพรัตน์ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน ที่ผ่านมาคณาจารย์และนักศึกษาของทางคณะฯ ซึ่งประกอบด้วย ผศ.นพรัตน์ วงศ์หิรัญเดชา อ.สุเพ็ญ ด้วงทอง ดร.กมลทิพย์ นิคมรัตน์ ดร.อดิศรา ตันตสุทธิกุล อ.ปริยากร สุจิตพันธ์ และนักศึกษาหลักสูตรการผลิตและการจัดการผลิตภัณฑ์อาหาร และหลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร จัดอบรมเชิงปฏิบัติการทำไข่เค็มให้แก่สมาชิกหมู่ที่ 1 ต.ชะแล้ อ.สิงหนคร จ.สงขลา (ผู้มีรายได้น้อย ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง ผู้พิการ และผู้ดูแลกลุ่มเป้าหมาย) ซึ่งเป็นการดำเนินงานตามโครงการพัฒนาคุณภาพชีวิตและยกระดับรายได้ให้กับคนในชุมชนฐานราก กิจกรรมย่อยเสริมสร้างอาชีพเสริมเพื่อยกระดับรายได้ครัวเรือนตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้ชุมชน/ท้องถิ่นมีความเข้มแข็ง สามารถจัดการกันเองและทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ
ดร.มงคล กล่าวว่า จากการที่ มรภ.สงขลา มีพันธกิจในการบริการวิชาการและถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้เข้มแข็งบนฐานรากของการมีส่วนร่วม อีกทั้งยังส่งเสริมและสืบสานโครงการอันเนื่องมาจากพระบรมราโชบายและแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งคณะเทคโนโลยีการเกษตรตอบสนองต่อพันธกิจดังกล่าวในการส่งเสริมและพัฒนาทักษะอาชีพทางด้านเกษตรและอาหาร ในการนำความรู้ทางด้านวิชาการและงานวิจัยมาถ่ายทอดองค์ความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพให้แก่กลุ่มเกษตรกร หรือครัวเรือนที่ต้องการจะยกระดับรายได้หรือต้องการส่งเสริมการประกอบอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายให้แก่ครัวเรือน ทั้งยังเป็นการพัฒนาศักยภาพสมาชิกในครัวเรือน ซึ่งอาจประกอบไปด้วยผู้สูงวัยหรือผู้ป่วย ให้มีกิจกรรมที่สามารถเสริมรายได้อีกทางหนึ่ง จึงนำมาสู่การจัดโครงการในครั้งนี้
ด้าน ผศ.นพรัตน์ วงศ์หิรัญเดชา ประธานหลักสูตรการผลิตและการจัดการผลิตภัณฑ์อาหาร ผู้นำโครงการ กล่าวว่า คณะเทคโนโลยีการเกษตรได้ลงพื้นที่สำรวจข้อมูลพื้นฐานครัวเรือนในเขตพื้นที่รับผิดชอบ คือ ต.ชะแล้ และ ต.ป่าขาด อ.สิงหนคร จ.สงขลา เพื่อสำรวจข้อมูลเชิงลึกทั้งในด้านรายได้และรายจ่ายเฉลี่ยของคนในครัวเรือนต่อปี สภาพความเป็นอยู่และปัญหาความต้องการในการประกอบอาชีพ รวมถึงวัสดุอุปกรณ์สนับสนุนการพัฒนาอาชีพ เพื่อต่อยอดเป็นอาชีพเสริมในการเพิ่มรายได้ให้แก่ครัวเรือน จากการสำรวจพบว่าครัวเรือนส่วนใหญ่เป็นครอบครัวผู้สูงอายุ ซึ่งมีปัญหาด้านสุขภาพและต้องการวัสดุอุปกรณ์ส่งเสริมการเพิ่มรายได้โดยที่ไม่ต้องออกไปหางานนอกบ้าน บางครอบครัวต้องการให้สมาชิกเรียนรู้การประกอบอาชีพเสริมเพื่อลดค่าใช้จ่ายในครอบครัว โดยในการพัฒนาอาชีพหรือสร้างอาชีพนั้นส่วนใหญ่เกี่ยวข้องในด้านเกษตรและอาหาร ซึ่งทางคณะฯ มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านดังกล่าวที่สามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ไปสู่การปฏิบัติได้จริง และสามารถส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านอาชีพนั้นๆ เพื่อเพิ่มช่องทางการเพิ่มรายได้ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของครัวเรือนได้ดีขึ้น
อ.สุเพ็ญ ด้วงทอง กล่าวเสริมว่า ผลที่คาดว่าจะเกิดในครั้งนี้ คาดหวังว่าผู้เข้าร่วมรับการฝึกอบรมสามารถนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน และอยากให้ผู้เข้าร่วมรับการฝึกอบรมได้เข้าใจถึงหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการนำไปปรับใช้สำหรับการดำรงชีวิตในปัจจุบันให้ได้
ปิดท้ายด้วย ดร.กมลทิพย์ นิคมรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การอบรมครั้งนี้มีการฝึกทำไข่เค็ม 4 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่ ไข่เค็มดองน้ำเกลือ ไข่เค็มใบเตย ไข่เค็มพอกด้วยดินแกลบ และ ไข่เค็มสูตรเร่งรัด ใช้น้ำส้มสายชู ซึ่งการทดลองให้ผลน่าประทับใจ ผู้เข้าร่วมอบรมให้ความสนใจและนำไปปรับเปลี่ยนวิธีการเพื่อให้ได้ไข่เค็มที่มีรสชาติอร่อย ซึ่งไข่เค็มสูตรที่คาดว่าอร่อยและได้รับความนิยมในการไปทำอาชีพเสริมเพิ่มรายได้ คือ สูตรไข่เค็มใบเตยและไข่เค็มพอกด้วยดินแกลบ