วันพุธ, 25 ธันวาคม 2567

คณะเกษตร มรภ.สงขลา ถ่ายทอดความรู้ชุมชนบ้านขาว อ.ระโนด เพิ่มมูลค่าตาลโตนด-สมุนไพร-กระจูด พืชท้องถิ่นลุ่มน้ำปากพนัง

อาจารย์คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา ลงพื้นที่ ต.บ้านขาว อ.ระโนด ถ่ายทอดความรู้ด้านการอนุรักษ์และเพิ่มมูลค่าพืชท้องถิ่นลุ่มน้ำปากพนัง ตาลโตนด สมุนไพร กระจูด ในโครงการส่งเสริมการดำเนินการตามพระราชดำริ พร้อมฝึกทำน้ำมันเหลือง ยาหม่องครีม ที่มีส่วนผสมจากสมุนไพรหลากชนิด เตรียมต่อยอดสู่ผลิตภัณฑ์ชุมชน  

เมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมา อาจารย์ปริยากร สุจิตพันธ์ และ ดร.ศุภัครชา อภิรติกร อาจารย์ประจำคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ได้รับเชิญสำนักงานเกษตรอำเภอระโนด เป็นวิทยากรในโครงการส่งเสริมการดำเนินงานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ การพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ยเพื่อชุมชน (One Stop Service) ในกิจกรรม ส่งเสริมการอนุรักษ์และการเพิ่มมูลค่าพืชท้องถิ่นลุ่มน้ำปากพนัง (ตาลโตนด สมุนไพร และกระจูด) การอนุรักษ์และการเพิ่มมูลค่าพืชท้องถิ่น โดยได้รับการต้อนรับจาก นายวีรพันธุ์ เคี่ยมการ เกษตรอำเภอระโนด พร้อมด้วย นางสาวราตรี ด้วงดี นักวิชาการส่งเสริมการเกษตรชำนาญการ และ นางสาวสุกัญญา มุกสิกชาติ นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ณ ศาลาอเนกประสงค์ หมู่ที่ 3 ตำบลบ้านขาว อำเภอระโนด จังหวัดสงขลา

 ผศ.ดร.อมรรัตน์ ชุมทอง รองคณบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ คณะเทคโนโลยีการเกษตร มรภ.สงขลา กล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการส่งเสริมการดำเนินการตามพระราชดำริของเกษตรอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ซึ่งมีกิจกรรมย่อยที่หลากหลายในด้านการพัฒนาธุรกิจบริการดินและปุ๋ย รวมทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวภัณฑ์พืช ซึ่งชีวภัณฑ์พืชก็คือสารสกัดหรือผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากพืชที่มีสารสําคัญ ได้มาจากส่วนต่างๆ ของพืช อาทิ ราก ลําต้น ใบ ดอก ผลหรือเมล็ด นั่นเอง ซึ่งมีฤทธิ์ในการป้องกันกําจัดศัตรูพืชทางการเกษตร ทําให้พืชทนทานศัตรูพืช หรือนํามาใช้ประโยชน์ในการดํารงชีพ เช่น อาหาร ยารักษาโรค ผลิตภัณฑ์ในครัวเรือน (แชมพู สบู่ น้ำยาล้างจาน เป็นต้น) และด้านการเกษตร เช่น การป้องกัน การขับไล่ และ การกําจัดแมลงศัตรูพืช

ผศ.ดร.อมรรัตน์ กล่าวอีกว่า มนุษย์รู้จักใช้ประโยชน์จากส่วนต่างๆ ของพืชเพื่อประโยชน์ในการดํารงชีวิตหลายรูปแบบ พืชมีบทบาทต่อชุมชนไม่ใช่เพราะเพียงเป็นพืชอาหารประจําวันเท่านั้น พืชบางชนิดยังอาจใช้เป็นยารักษาโรคที่มีศักยภาพในระดับการผลิตเชิงพาณิชย์หรือเป็นยาในระบบ สาธารณสุขมูลฐาน พืชหลายชนิดสามารถนํามาใช้ประโยชน์ในการปรุงแต่งกลิ่น ปรุงแต่งรส ถนอมอาหาร ใช้เป็นสารให้สี ใช้ในพิธีกรรมต่างๆ ใช้เป็นผลิตภัณฑ์อาหารเสริม หรือแม้กระทั่งใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตสารสกัดจากพืชเพื่อป้องกันกําจัดศัตรูพืช

  ด้าน ดร.ศุภัครชา ได้แนะนำการคัดเลือกพืชสมุนไพร การนำมาใช้ประโยชน์ การเก็บเกี่ยว การเก็บรักษา และกล่าวเพิ่มเติมว่า คุณสมบัติของพืชสมุนไพรที่ดีในการนํามาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตนั้น ต้องมีสารออกฤทธิ์หรือสารสำคัญในการมีสรรพคุณเป็นยาที่แตกต่างกัน บางชนิดมีสาระสำคัญเป็นพิษ เหมาะสำหรับการนำไปใช้เป็นสารกำจัดแมลง ดังนั้น การนำสมุนไพรไพรมาใช้ต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และต้องไม่เป็นพืชที่หายาก รวมทั้งไม่ควรเป็นพืชอาหาร ทั้งนี้ ควรเป็นพืชที่สามารถนํามาใช้เป็นประโยชน์ได้ทุกส่วน นอกจากนั้น ในการคัดเลือกชนิดพืชที่จะนํามาพัฒนาศักยภาพและขยายผลในการผลิตเชิงพาณิชย์อาจพิจารณาชนิดพืชที่หาได้และเจริญเติบโตได้ในท้องถิ่นจำเพาะพื้นที่ และมีคุณลักษณะเพิ่มเติมคือ ควรเป็นพืชที่สามารถนํามาใช้เป็นประโยชน์ได้ทุกส่วน เพื่อใช้ประโยชน์จากพืชวัตถุดิบได้อย่างเต็มประสิทธิภาพและเน้นการบริหารทรัพยากรให้เกิดประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ ตลอดจนไม่มีของเหลือใช้จากกระบวนการผลิต ส่วนการบํารุงรักษาพืชสมุนไพรควรเลือกวิธีดูแลรักษาให้เป็นไปตามธรรมชาติมากที่สุด และควรหลีกเลี่ยงสารเคมีไม่ว่าด้านการใส่ปุ๋ย การกําจัดวัชพืชหรือศัตรูพืช เนื่องจากอาจมีพิษตกค้างในพืชและยังมีผลกับคุณภาพและปริมาณสารสําคัญในพืช

 ขณะที่ อาจารย์ปริยากร ได้ให้คำแนะนำในเรื่องของการวิเคราะห์วางแผนธุรกิจให้กับเกษตรกรในชุมชนบ้านขาว รวมทั้งช่องทางการจัดจำหน่าย การคิดต้นทุนในการทำยาหม่องและการทำน้ำมันเหลืองระเหย รวมทั้งการนำมาใช้เป็นผลิตภัณฑ์ชีวภัณฑ์ต่างๆ โดยได้รับความสนใจจากเกษตรอำเภอ ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้าน และกลุ่มเกษตรกร สอบถามในเรื่องดังกล่าว ซึ่งอาจารย์ปริยากรได้แนะนำการผลิตในเรื่องของการทำโลโก้และการทำแบรนด์สินค้าในเชิงพาณิชย์ เพื่อให้สินค้ามีมูลค่าและเข้าสู่ตลาดต่อไป จากนั้นทั้งหมดได้ช่วยกันทำน้ำมันเหลืองและยาหม่องครีมที่มีส่วนผสมจากสมุนไพรหลายชนิด เช่น การบูร พิมเสน ไพล ต้นโพธิ์ และน้ำมันระกำ เป็นต้น ซึ่งกลุ่มเกษตรชุมชนให้ความสนใจและคิดต่อยอดในการทำให้เกิดผลิตภัณฑ์ของชุมชนอีกด้วย

“บรรจุภัณฑ์ที่ใช้ในการเก็บรักษาสมุนไพรไว้เป็นเวลานานมักจะเกิดการขึ้นรา มีหนอน เปลี่ยนลักษณะสี กลิ่น ทําให้สารสําคัญในพืชสมุนไพรนั้นเสื่อมคุณภาพลง ส่งผลให้มีผลไม่ดีต่อฤทธิ์การรักษาหรือสูญเสีย ฤทธิ์การรักษาไป ดังนั้น จึงควรมีบรรจุภัณฑ์เก็บรักษาที่ดี เพื่อจะประกันคุณภาพและฤทธิ์การรักษา ของพืชสมุนไพรนั้นด้วย” อาจารย์ปริยากร กล่าว