คณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา จับมือมูลนิธิเรารักสงขลา เฉลิมพระเกียรติ และวงดุริยางค์สากลฟิลฮาร์โมนิกแห่งสงขลา “ในความรำลึกถึงพลเอกเปรม ติณสูลานนท์” เปิดบ้านจัดอบรมด้านดนตรี ค่ายวงขับร้องประสานเสียง THE SPO CHORUSหวังยกระดับการศึกษาด้านดนตรีให้เยาวชน 54 โรงเรียน จาก 16 อำเภอของ จ.สงขลาทัดเทียมระดับประเทศและนานาชาติ
คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) ร่วมกับมูลนิธิเรารักสงขลา เฉลิมพระเกียรติ ร่วมกับวงดุริยางค์สากลฟิลฮาร์โมนิกแห่งสงขลา “ในความรำลึกถึงพลเอกเปรม ติณสูลานนท์” จัดกิจกรรมอบรมเชิงปฏิบัติการทางด้านดนตรี ค่ายวงขับร้องประสานเสียง THE SPO CHORUS ระหว่างวันที่ 8-10 กุมภาพันธ์ 2566 ณ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มรภ.สงขลา ได้รับเกียรติจาก ดร.กมล รอดคล้าย ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย โดยมี นายบัญญัติ จันทร์เสนะ ประธานมูลนิธิเรารักสงขลา เฉลิมพระเกียรติ เป็นประธานในพิธีเปิด กล่าวต้อนรับผู้เข้าร่วมกิจกรรม โดย รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา
นายบัญญัติ จันทร์เสนะ ประธานมูลนิธิเรารักสงขลา เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับเกียรติเป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรมในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสอันดีที่เยาวชนทั้ง 16 อำเภอของจังหวัดสงขลา จะได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการขับร้องประสานเสียง และสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ให้ความรู้ในการพัฒนาดนตรีต่อไปได้ ในนามของมูลนิธิฯ ขอขอบคุณคณะผู้จัดโครงการ วิทยากรที่มาให้ความรู้ และขอให้ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมจงนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่เพื่อพัฒนาวงการดนตรีภาคใต้ ท้ายที่สุดขอขอบคุณ มรภ.สงขลา ที่กรุณาเอื้อเฟื้อสถานที่ จึงทำให้มีกิจกรรมนี้ได้
ด้าน รศ.ดร.ทัศนา ศิริโชติ อธิการบดี มรภ.สงขลา กล่าวว่า ทางมหาวิทยาลัยมีความยินดีที่ได้รับเกียรติจากมูลนิธิเรารักสงขลา เฉลิมพระเกียรติ ที่เลือกคณะศิลปกรรมศาสตร์ในการจัดกิจกรรมอบรม THE SPO CHORUS ในครั้งนี้ ซึ่ง มรภ.สงขลา เป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยหนึ่งในพันธกิจหลักคือการส่งเสริม เผยแพร่ อนุรักษ์ สืบสาน และสร้างสรรค์ ศิลปะและวัฒนธรรมท้องถิ่น รวมถึงสร้างความรู้ความเข้าใจ และสร้างสรรค์ศิลปะและวัฒนธรรมของท้องถิ่นและของชาติ เพื่อให้เกิดความสำนึก ความภูมิใจ รักและผูกพันในท้องถิ่นและประเทศชาติ
การจัดกิจกรรมครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากมูลนิธิเรารักสงขลา เฉลิมพระเกียรติ โดยมีกลุ่มเป้าหมายคือ เยาวชนจากสถาบันการศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาขั้นพื้นฐาน คัดเลือกจากการแข่งขันงานศิลปหัตกรรมนักเรียน ประจำปี 2566 รวมทั้งสิ้น 64 คน จาก 54 โรงเรียน ทั้ง 16 อำเภอของจังหวัดสงขลา วัตถุประสงค์เพื่อยกระดับการศึกษาทางด้านดนตรีในสถาบันการศึกษาของจังหวัดสงขลา ให้มีความทัดเทียมระดับประเทศและนานาชาติ เป็นต้นแบบศูนย์รวมในการพัฒนาการเรียนรู้ทางด้านดนตรีในเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้
ตลอดจนเพื่อให้เยาวชนในจังหวัดสงขลาได้รับการกระตุ้น สนใจการแสดงดนตรี การฟังดนตรีที่มีคุณค่า รวมถึงจิตใจได้รับการกล่อมเกล่าให้อ่อนโยนอีกทั้งยังเป็นการใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์แก่สังคม ห่างไกลสิ่งเสพติด และสิ่งยั่วยุที่ไม่พึ่งประสงค์ ตลอดจนสามารถประกอบเป็นอาชีพได้ และส่งเสริมการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวและวัฒนธรรมของจังหวัดสงขลา รวมถึงภาคใต้ตอนล่าง ในระดับสากลได้เป็นอย่างดี