วันพฤหัสบดี, 23 มกราคม 2568

คณะวิทย์ฯ มรภ.สงขลา เก็บตัวอย่างน้ำประปาชุมชน อ.สทิงพระ สร้างแผนที่แหล่งน้ำ-ระบุพิกัดจีพีเอส แก้ปัญหาจัดการน้ำยั่งยืน

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา ลงพื้นที่เก็บตัวอย่างน้ำประปาชุมชน อ.สทิงพระ สร้างแผนที่แหล่งน้ำ พร้อมระบุพิกัดจีพีเอสและข้อมูลทรัพยากรน้ำ 9 หมู่บ้าน จับมือ อบต.ท่าหิน ต่อยอดสู่การแก้ไขปัญหาจัดการน้ำอย่างยั่งยืน  

เมื่อเร็วๆ นี้ ผศ.กฤษณ์วรา รัตนโอภาส รองคณบดีฝ่ายวิจัยบริการวิชาการและวิเทศสัมพันธ์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) นำทีมนักวิทยาศาสตร์ ลงเก็บตัวอย่างน้ำประปาชุมชน ณ อ.สทิงพระ จ.สงขลา เพื่อสร้างแผนที่แหล่งน้ำและคุณภาพน้ำของชุมชน พร้อมระบุพิกัดจีพีเอสและข้อมูลทรัพยากรน้ำ จำนวน 9 หมู่บ้าน ร่วมกับองค์การบริหารส่วนตำบลท่าหิน (อบต.ท่าหิน) อ.สทิงพระ ซึ่งเป็นการดำเนินงานภายใต้โครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบ อ.สทิงพระ จ.สงขลา ในการช่วยแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำมีคุณภาพต่ำจากการแทรกซึมของน้ำทะเล และปัญหาเรื่องน้ำอุปโภคและบริโภคในช่วงหน้าแล้ง ต่อยอดสู่การหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาการจัดการน้ำอย่างยั่งยืน

ผศ.กฤษณ์วราผู้เสนอโครงการ กล่าวว่า โครงการนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อตอบสนองต่อพระปณิธานของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร รัชการที่ 10 ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ ด้วยหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นำไปสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ตลอดจนส่งเสริม สนับสนุนให้คนในชุมชนสามารถบริหารจัดการชีวิตตนเองได้อย่างสมดุล และมีความเหมาะสม สามารถดำรงชีวิตตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง นำไปสู่การพึ่งพาตนเองและช่วยเหลือเกื้อกูลกันในชุมชนได้อย่างยั่งยืน ทั้งยังบูรณาการการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในชุมชน รวมถึงยกระดับรายได้ ลดรายจ่าย และเพิ่มนวัตกรรมสำหรับการดำเนินชีวิตให้กับชุมชน ทั้งระดับ ตำบล หมู่บ้าน และครัวเรือน

ผศ.กฤษณ์วรากล่าวอีกว่า ผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจากการทำโครงการคือ มรภ.สงขลา สามารถเป็นที่พึ่งของชุมชนในท้องถิ่นได้ ขณะเดียวกันชุมชนมีศรัทธาและน้อมนำแนวทางพระราชดำริมาบูรณาการพัฒนาคุณภาพชีวิต ที่มีการเรียนรู้ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏ เพื่อนำไปสู่การจัดการตนเองอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืนได้ นอกจากนั้น ยังเป็นการนำปัญหาจากชุมชนสู่การใช้กระบวนการความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ข้อมูลกลับสู่ชุมชน สู่การสร้างชุมชนต้นแบบความร่วมมือกัน ทั้งภาครัฐและชุมชนในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และมีการสร้างแผนการท่องเที่ยวเชิงประสบการณ์ตามวิถีชีวิตประจำวันของชาวบ้าน สู่การท่องเที่ยวที่ยังยืน