คณะวิทยาศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา จับมือ ทม.เขารูปช้าง หารือกรอบความร่วมมือจัดตั้ง รพ.สต.จำลอง หวังเป็นศูนย์ฝึกประสบการณ์วิชาชีพนักศึกษา ควบคู่ให้บริการด้านสาธารณสุขเบื้องต้น และฟื้นฟูสุขภาพคนในชุมชน
หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) นำโดย อาจารย์ ดร.วรพล หนูนุ่น ประธานหลักสูตรฯ ร่วมกับคณะกรรมการอำนวยการ คณะกรรมการดำเนินงาน และที่ปรึกษาโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.จำลอง) มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา ของหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดำเนินการประชุมเพื่อปรึกษาหารือและกำหนดกรอบความร่วมมือกับเทศบาลเมืองเขารูปช้าง (ทม.เขารูปช้าง) สำหรับการดำเนินงาน รพ.สต. จำลอง ณ ห้องประชุม 10-103 คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา โดยมี ผศ.ดร.อนุมัติ เดชนะ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มรภ.สงขลา กล่าวต้อนรับฯ
สำหรับผู้เข้าร่วมประชุมให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในครั้งนี้ประกอบด้วย 1. นายธนรัตน์ ตุละธน รองนายกเทศมนตรีเมืองเขารูปช้าง 2. นายสุทัศน์ วรรโณ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ (ข้าราชการบำนาญ สสจ.สงขลา) ประธานกรรมการที่ปรึกษา หลักสูตร ส.บ. 3. นายบุญเลิศ แก้วเอียด ผู้อำนวยการกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม ทม.เขารูปช้าง 4. นายแสงสุรีย์ ศรีสวัสดิ์ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ สสอ.เมืองสงขลา ประธานชมรมครูพี่เลี้ยงหลักสูตร ส.บ. 5. นางจุฑามาศ ฤทธาภัย นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ รพ.สต.เกาะแต้ว ประธานชมรมศิษย์เก่าฯ หลักสูตร ส.บ. 6. นางนงเยาว์ สุวรรณทวี ประธานอาสาสมัครสาธารณสุขอำเภอเมืองสงขลา 7. นางอภิญญา วระดี สมาชิกเทศบาลเมืองเขารูปช้าง 8. นายณัฐวัตร อ่องไพบูลย์ บุคคลากรประจำศูนย์แพทย์แผนไทย มรภ.สงขลา
ผศ.ดร.อนุมัติ เดชนะ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ทางคณะฯ มีกำลังคนด้านนักศึกษา แต่ด้วยศักยภาพของเราเพียงหน่วยงานเดียวคงไม่มากพอที่จะจัดตั้ง รพ.สต.จำลอง ในการเป็นแหล่งเรียนรู้วิชาชีพด้านสาธารณสุข เพื่อฝึกประสบการณ์จริงให้กับนักศึกษา จึงได้พูดคุยกับประธานหลักสูตรฯ ว่า ควรมีการทำงานและหารือร่วมกับหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง ขอขอบคุณทุกท่านและรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เช้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ ตนเชื่อว่าหาก รพ.สต.จำลอง มรภ.สงขลา สามารถเกิดขึ้นได้จริงย่อมจะเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษา และช่วยให้คนในชุมชนมีโอกาสเข้าถึงบริการด้านสาธารณสุขมากขึ้นด้วย ซึ่งหากการดำเนินงานในเรื่องนี้เป็นไปได้ด้วยดี ก็อาจมีความเป็นไปได้ที่ทางคณะฯ จะเปิดการเรียนการสอนด้านพยาบาล เพื่อรองรับเรื่องนี้ต่อไปในอนาคต
ด้าน ดร.วรพล หนูนุ่น ประธานหลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต กล่าวว่า รพ.สต.จำลอง มรภ.สงขลา จะก่อให้เกิดประโยชน์รอบด้าน กล่าวคือ มหาวิทยาลัยมีหน่วยบริการสาธารณสุขของตนเองในการให้บริการนักศึกษา บุคลากร และผู้ใช้บริการในพื้นที่ ส่วน ทม.เขารูปช้าง มีหน่วยบริการสาธารณสุขของตนเองในการให้บริการประชาชน ขณะที่นักศึกษา อาจารย์ มีที่ฝึกที่เรียนสำหรับเพิ่มพูนประสบการณ์จากของจริง และประชาชนทุกกลุ่มวัย โดยเฉพาะผู้สูงอายุ สามารถเข้าถึงบริการทางสาธารณสุขได้มากขึ้น สังคมและประเทศชาติได้ประโยชน์สูงสุดจากทรัพยากรที่ถูกนำมาแชร์ และใช้ประโยชน์ร่วมกัน และเป็นการแก้ไขปัญหาความขาดแคลน ไม่เพียงพอได้อย่างยั่งยืน
ดร.วรพล กล่าวอีกว่า หลักสูตรสาธารณสุขศาสตรบัณฑิต จะครบรอบ 50 ปีในปี 2565 ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาเรามีการผลิตตั้งแต่ครูไปจนถึงนักสุขศึกษา ซึ่งปัจจุบันความเข้มงวดด้านมาตรฐานวิชาชีพสาธารณสุขมีความเข้มข้นมากขึ้น ทางหลักสูตรฯ ได้รับเสียงสะท้อนจากหน่วยงานที่นักศึกษาไปฝึกประสบการณ์วิชาชีพว่า นักศึกษามีความสามารถด้านการทำงานใกล้ชิดชุมชน แต่ยังขาดเรื่องการปฏิบัติงานในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เราจึงใช้การฝึกปฏิบัติในห้องเรียนเพื่อจำลองการปฏิบัติงานในสถานที่จริง ประกอบกับได้รับคำแนะนำจากผู้เชี่ยวชาญว่าหากไม่ตั้ง รพ.สต. ขึ้นมาเอง ก็ควรทำความร่วมมือกับหน่วยที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ จึงนำมาสู่แนวคิดในการหารือร่วมกับ ทม.เขารูปช้าง ซึ่งมีประสบการณ์ทำงานด้านสาธารณสุขในพื้นที่เป็นอย่างดี
ขณะที่ นายธนรัตน์ ตุละธน รองนายกเทศมนตรีเมืองเขารูปช้าง กล่าวว่า ตนดูแลกองสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว เมื่อได้ฟังจากคณบดีและประธานหลักสูตรฯ เชื่อว่าแนวคิดที่จะตั้ง รพ.สต.จำลอง เป็นสิ่งที่ถูกต้อง และตรงกับปรัชญาของ มรภ.สงขลา ในการพัฒนาท้องถิ่นยั่งยืน เราไม่ควรลืมรากเหง้าของตนเอง การทำโครงการนี้ตอบโจทย์คนในท้องถิ่นและเข้ากับตรรกะของราชภัฏ แต่ก่อนอื่นเราต้องใจก่อน ว่า รพ.สต.จำลอง คืออะไร หนึ่งในนั้นคือการรักษาพยาบาลเบื้องต้น และการฟื้นฟูสุขภาพ เป็นการดูแลเบื้องต้นก่อนที่จะส่งต่อไปรักษายังโรงพยาบาล ดังนั้น ถ้าจะให้ รพ.สต.จำลอง มรภ.สงขลา มีความเป็นเลิศ อยากให้เน้นเรื่องการฟื้นฟูดูแลสุขภาพ เนื่องจากในพื้นที่มีผู้ป่วยติดเตียงที่อยากให้ได้รับการดูแล ซึ่งเรื่องผู้ป่วยติดเตียงถือเป็นปัญหาใหญ่ หากสามารถทำในส่วนนี้ได้จะดีมาก ทางเทศบาลฯ ยินดีให้ความช่วยเหลือทุกเรื่อง ที่สำคัญ มรภ.สงขลา ต้องเป็นตัวหลักในการขับเคลื่อน และสิ่งที่อยากฝากในการสอนนักศึกษา คือการมีจิตใจสาธารณะ เช่นเดียวกันบุคลากรก็ต้องไม่ลืมถึงตรรกะความเป็นราชภัฏ ที่มุ่งเน้นการทำงานเพื่อพัฒนาท้องถิ่น