คณะมนุษยศาสตร์ฯ มรภ.สงขลา จับมือ 8 ชุมชนต้นแบบในพื้นที่ จ.สงขลา พัทลุง สตูล สัมมนาพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในรูปแบบ SDGs ดึงศักยภาพภาคเอกชน ประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น ร่วมขับเคลื่อน พร้อมแก้ไขปัญหาเชิงลึก
ดร.นราวดี บัวขวัญ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการศูนย์การเรียนรู้เพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนสำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรชุมชน กิจกรรมสัมมนาเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพและการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs สู่ชุมชนต้นแบบ 1 จังหวัด 1 ชุมชน ในพื้นที่ จ.สงขลา พัทลุง และสตูล เมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2566 ณ โรงแรม บีพี สมิหลา บีช อ.เมือง จ.สงขลา ซึ่งคณาจารย์ในคณะทำงานภาคีเครือข่ายทั้ง 7 คณะของ มรภ.สงขลา ได้ผนึกกำลังเพื่อสร้างพื้นที่ชุมชนต้นแบบที่มีความเข้มแข็ง แสดงศักยภาพของนักวิชาการที่สอดรับกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยที่ว่า “มรภ.สงขลา เป็นมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น” โดยได้ร่วมกับชุมชนต้นแบบทั้ง 8 ชุมชน ได้แก่ ชุมชนเกาะยอ ชุมชนเกาะแต้ว อ.เมือง จ.สงขลา ชุมชนท่าหิน อ.สทิงพระ จ.สงขลา ชุมชนทุ่งลาน-คลองหอยโข่ง อ.คลองหอยโข่ง จ.สงขลา ชุมชนโคกม่วง อ.เขาชัยสน จ.พัทลุง ชุมชนตะโหมด อ.ตะโหมด จ.พัทลุง ชุมชนเขาขาว อ.ละงู จ.สตูล และ ชุมชนทุ่งนุ้ย อ.ควนกาหลง จ.สตูล
ดร.นราวดี กล่าวว่า การนำเอาศักยภาพของภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคเอกชน ประชาสังคม ชุมชนท้องถิ่น มาร่วมขับเคลื่อน รวมถึงการสนับสนุนการรวมตัวของประชาชนเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชนในการร่วมแก้ไขปัญหาให้สอดคล้องกับความต้องการระดับพื้นที่บนฐานองค์ความรู้และความเข้าใจในบริบทและสภาพปัญหาในเชิงลึกที่แท้จริงนั้น นับเป็นการเสริมสร้างศักยภาพและความสามารถของประชาชน และเปิดโอกาสให้เกิดกระบวนการรวมตัวของประชากรทุกกลุ่ม ทุกเพศ ทุกวัย รวมถึงภาคีเครือข่ายพัฒนา เป็นพลังสำคัญในการสร้างโอกาสและความเสมอภาคในสังคมควบคู่ไปกับการดำเนินการของภาครัฐในการขับเคลื่อนไปข้างหน้า ตามกรอบการพัฒนาของโลกเพื่อร่วมกันบรรลุการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs)
โครงการนี้ส่งเสริมพันธกิจของมหาวิทยาลัยทั้งด้านวิชาการและบริการวิชาการ ขณะเดียวกันได้สร้างฐานความเข้มแข็งของชุนชนอันจะสนับสนุนการพัฒนาประเทศชาติให้มั่นคง ยั่งยืน งานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้มีความเชี่ยวชาญและมากด้วยประสบการณ์ ร่วมสร้างหลักคิด ผลักดันให้ตัวแทนจากชุมชนต้นแบบกำหนดทิศทางในการสร้างชุมชนเข้มแข็งตามโครงการพระราโชบายได้อย่างเข้าใจบริบทของตนเอง โดยวิทยากรทั้ง 6 คนได้ร่วมสัมมนาและฝึกปฏิบัติการ หัวข้อ “การพัฒนาศักยภาพและการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs สู่ชุมชนต้นแบบ 1 จังหวัด 1 ชุมชน ในพื้นที่จังหวัดสงขลา พัทลุง และสตูล” นำการสัมมนา โดย ดร.รัชชพงษ์ ชัชวาลย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ พูดคุยประเด็นการประยุกต์แนวคิด SDGs ในโมเดลการพัฒนาชุมชนต้นแบบการท่องเที่ยวชุมชนตำบลเขาขาวสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ดร.บรรจง ทองสร้าง ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มรภ.สงขลา พูดคุยในประเด็น Sustainable Development Goals เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ผศ.ดร.ป้องศักดิ์ ทองเนื้อแข็ง คณบดีคณะวิทยาการจัดการ มรภ.สงขลา พูดคุยในประเด็น การสร้างความยั่งยืนให้กับวิสาหกิจชุมชนในชุมชนต้นแบบโคกม่วง อาจารย์บุญเลิศ จันทระ นักวิจัยสถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ พูดคุยในประเด็น ทุนทางวัฒนธรรมสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ดร.สินธพ อินทรัตน์ นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา พูดคุยในประเด็น ชุมชนท่าข้ามกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน และ วิทยากรพิเศษ Dr.Sari Lenggogeni ผู้อำนวยการมูลนิธิศูนย์พัฒนาการท่องเที่ยวโดยชุมชน ของ Universitas Andalas, West Sumatera, Indonesia พูดคุยในประเด็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนในการจัดการท่องเที่ยวประเทศอินโดนีเซีย
ด้าน ดร.รัชชพงษ์ ชัชวาลย์ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มรภ.สงขลา กล่าวว่า คณะทำงานภาคีเครือข่ายเล็งเห็นถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของชุมชนเพื่อขับเคลื่อนประเทศชาติ จึงได้จัดกิจกรรมในครั้งนี้ขึ้น วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาศักยภาพการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายโดยกระบวนการทำงานในรูปแบบภาคีเครือข่ายเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs ทั้งภาครัฐ ภาคท้องถิ่น ภาควิชาการ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคประชาสังคม/ภาคประชาชน ซึ่งการพัฒนาและเสริมสร้างสังคมและชุมชนให้มีความเข้มแข็ง ซึ่งเป็นการสร้างพื้นที่ให้มีการปรึกษาหารือ สร้างความเข้าใจและยอมรับถึงคุณค่าและความแตกต่าง และสร้างเป้าหมายร่วมหรือจุดร่วมอย่างสร้างสรรค์