วันอังคาร, 19 พฤศจิกายน 2567

คณะผู้บริหาร สทป. เข้าพบ รอง ผอ.รมน.ภาค 4 สน. รายงานผลการซ่อมคืนสภาพหุ่นยนต์ประจำการ รุ่น Guardian เสริมภารกิจความมั่นคงให้ครอบคลุมทุกมิติ

วันนี้ (21 พฤษภาคม 2567) เวลา 10.30 น. ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ค่ายสิรินธร ตำบลเขาตูม อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี นาวาอากาศเอก คมสันต์ ประพันธ์กาญจน์ รองผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ / รักษาการแทนผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ พร้อมคณะผู้บริหาร จากสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ, ดร.วัชรี จรจำรัส ผู้อำนวยการโครงการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด และ พันเอก ยุทธนา ไชยสมบัติ ผู้บังคับหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิดอโณทัย เข้าพบ พลตรี เกรียงศักดิ์ วัฒนเกริก รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และ พลตรี อนุตร รัตนศึกษา รองผู้อำนวยการสำนักอำนวยการข่าวกรอง กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อรายงานผลการซ่อมคืนสภาพหุ่นยนต์ รุ่น Guardian ของ หน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิดอโณทัย หน่วยเฉพาะกิจอโณทัย ซึ่งสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศดำเนินการซ่อมและส่งคืนให้หน่วยใช้งาน เรียบร้อยแล้ว เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566

โดย ดร.วัชรี จรจำรัส ผู้อำนวยการโครงการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด ระบุว่า สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศได้ลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือเมื่อปี 2560 ได้วิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์โดยขั้นแรกมีวิจัยพัฒนาหุ่นยนต์ทั้งหมด 2 รุ่น คือ หุ่นยนต์ขนาดพกพา ใช้สำหรับการตรวจการ และหุ่นยนต์ขนาดเล็ก ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหน่วยผู้ใช้งานในการทดสอบ และทดลองใช้งาน เพื่อสะท้อนถึงข้อบกพร่องให้นำไปพัฒนาปรับปรุงตัวหุ่นยนต์ให้ใช้การไดดีตลอดมา สำหรับปัจจุบันนี้ ได้ปรับปรุงพัฒนามาถึงเวอร์ชั่นที่ 4 หุ่นยนต์ดังกล่าวได้รับการรับรองมาตรฐานยุทโธปกรณ์กระทรวงกลาโหม “อกมย.กห.“ เมื่อปี 2564 ซึ่งระหว่างดำเนินการอยู่นั้น ได้รับโอกาสจากหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิดอโณทัย หน่วยเฉพาะกิจอโณทัย ให้ทางสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ช่วยประเมินการซ่อมปรับปรุงตัวหุ่นยนต์ รุ่น Guardian ในปี 2563 ช่วงสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งทีมวิจัยได้ดำเนินการรื้อ ศึกษา ทั้งระบบของตัวหุ่นยนต์ดังกล่าว และได้ดำเนินการซ่อมทั้งหมด 10 รายการ อาทิ แบตเตอรี่, มอเตอร์, ระบบสื่อสาร, ระบบอิเล็กทรอนิกส์, กล้อง, ระบบยิงปืน, จอชุดควบคุม จนสามารถซ่อมคืนสภาพตัวหุ่นยนต์ให้พร้อมใช้งานได้ตามปกติในภารกิจความมั่นคง

ด้าน พันเอก ยุทธนา ไชยสมบัติ ผู้บังคับหน่วยทำลายล้างวัตถุระเบิดอโณทัย เปิดเผยผลการทดลองใช้งานหุ่นยนต์ รุ่น Guardian ขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถซ่อม ปรับปรุง แก้ไขระบบได้ดี สามารถนำกลับไปเสริมภารกิจงานด้านความมั่นคงได้จริง คือ การเก็บกู้วัตถุระเบิด ยิงทำลายวงจร ยืนยันหุ่นยนต์ดังกล่าวมีความสำคัญในการปฎิบัติภารกิจงานด้านความมั่นคง เพื่อลดอัตราการสูญเสียชีวิตของกำลังพลได้ และปฏิบัติภารกิจได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ

ทั้งนี้ หุ่นยนต์ รุ่น Guardian มีขีดความสามารถในการตรวจการณ์ พิสูจน์ทราบ สนับสนุนภารกิจเก็บกู้และทำลายวัตถุระเบิด ด้วยกล้องที่ทำหน้าที่แทนดวงตา มีแขนกลที่สามารถรับน้ำหนักได้ถึง 7 กิโลกรัม พร้อมความสามารถในการหยิบ ยกและฉีก กรณีมีวัตถุต้องสงสัย

อย่างไรก็ตาม กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า พร้อมสนับสนุนสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศที่ยังมีหุ่นยนต์ต้นแบบอีกหลายตัว จากโครงการวิจัยและพัฒนาหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิดทั้งขนาดเล็ก ขนาดกลาง เพื่อการสร้างองค์ความรู้ด้านหุ่นยนต์และเทคโนโลยีด้านความมั่นคง เป็นการตอบโจทย์ความมั่นคงของประเทศ ทำให้ประเทศไทยพร้อมรับมือและตอบสนองกรณีฉุกเฉินได้ทันท่วงที โดยไม่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีต่างประเทศ ในขณะเดียวกันสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจในการส่งเสริมภาคเอกชน สร้างธุรกิจ สร้างงาน ควบคู่กับการพัฒนาบุคลากรให้มีขีดความสามารถในการสร้างนวัตกรรมในประเทศ