วันอาทิตย์, 23 กุมภาพันธ์ 2568

คณะผู้นำฝ่ายค้านลงพื้นที่ จชต. หารือการแก้ปัญหา ร่วมกับ แม่ทัพภาคที่ 4 ย้ำแนวทางสู่สันติสุข ยังคงยึดมั่นการแก้ปัญหาอย่างสันติวิธีตามแนวทาง การเมืองนำการทหารตาม ทุกปัญหาต้องดำเนินการคู่ขนานกันไป

วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 เวลา 09.00 น. ที่ค่ายเสนาณรงค์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา นายณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร นำคณะ ประกอบด้วย นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชนในฐานะประธานคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ ยุทธศาสตร์ชาติ และการปฏิรูปประเทศ สภาฯ , นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน และสมาชิค สส.พรรคประชาชนจำนวนหนึ่ง เข้าประชุมหารือร่วมกับ พลโท ไพศาล หนูสังข์ แม่ทัพภาคที่ 4/ผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 , พลตำรวจโท ปิยะวัตน์ เฉลิมศรี ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9/ ผู้บัญชาการกองกำลังตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ และฝ่ายอำนวยการต่าง ๆ ของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็น เกี่ยวกับสถานการณ์ความมั่นคงและการบังคับใช้กฎหมายพิเศษ การดำเนินคดีทางการเมือง และการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ.2570 ตามภารกิจผู้นำฝ่ายค้านพบประชาชน

นายณัฐพงษ์ ยืนยันวัตถุประสงค์ที่เดินทางมาหารือในวันนี้ ทางตนเชื่อว่า กระบวนการสันติภาพ ด้วยการใช้การเมืองนำการทหาร เป็นทางออกที่สำคัญนำไปสู่สันติภาพชายแดนใต้ ซึ่งในคณะที่ร่วมเดินทางมา มีผู้เชี่ยวชาญที่ค่อนข้างรอบด้าน จากกรรมาธิการชุดต่างๆ ในสภา ซึ่งเราเตรียมเดินทางไปที่เทศบาลนครยะลา เพื่อหารือกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฝ่ายองค์กรปกครองท้องถิ่น รวมถึงภาคประชาสังคมด้วย ทั้งนี้ ยังเชื่อว่า กลไกของสภาจะส่งเสริมกระบวนการสันติภาพของชายแดนใต้ด้วยเช่นกัน

ด้านแม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวรายงานสถานการณ์ว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพื้นที่ที่มีสังคมพหุวัตนธรรม แต่ยังคงเผชิญกับความพยายามแบ่งแยกดินแดนจากกลุ่มที่มีความคิดสุดโต่ง และมีการจัดตั้งขบวนการแบ่งแยกดินแดน หรือ บีอาร์เอ็น ทำงานด้านมวลชนในการปลุกระดม บ่มเพาะ โดยใช้ชุดความคิดที่ไม่ถูกต้อง และด้านการทหารในการก่อเหตุรุนแรงต่อเจ้าหน้าที่รัฐ และประชาชนให้เกิดความหวาดกลัว โดยแนวทางการต่อสู่ของกลุ่มดังกล่าวจนถึงปัจจุบันนี้ ต้องยอมรับว่ามีการใช้สื่อโซเชียล เพื่อกำหนดทิศทางของข้อมูลข่าวสารที่บิดเบือนจากความจริง เพื่อปลูกฝังและสร้างมวลชนใหม่ แต่ถึงอย่างไรก็ตามภารกิจของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ยังคงเชื่อมั่นในการปฏิบัติงานของหน่วยงานความมั่นคงในพื้นที่ ทั้ง ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครอง ที่มีการประสานการปฏิบัติสร้างความมีส่วนร่วมที่ถือเป็นหัวใจหลักของการทำงานในพื้นที่

นอกจากนั้นแล้วพี่น้องประชาชนก็มีส่วนร่วม ในการรักษาความสงบสุขของคนในพื้นที่เช่นกัน จึงเรียกได้ว่าที่ผ่านมากองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้ขับเคลื่อนงานแบบการเมืองนำและการทหารตาม เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาคืนความสงบสุขสู่พื้นที่ชายแดนภาคใต้