วันเสาร์, 23 พฤศจิกายน 2567

คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลามีมติให้สถานศึกษาสอนผ่านสื่อไปอีก 14 วัน เนื่องจากสถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด -19 ยังไม่ลดลง พร้อมเร่งให้มีการจัดระบบควบคุมกลุ่มเสี่ยงในโรงงานอุตสาหกรรม และชุมชนอย่างเคร่งครัด

วันที่ 23 มิ.ย.64 ที่ห้องประชุมสำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 สงขลา   นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา    พร้อมด้วยนายวรณัฎฐ์   หนูรอต รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา  พลตำรวจตรี อาชาน (อ่านอา-ชา -นะ)   จันทร์ศิริ  นายไชยพร นิยมแก้ว นายอำเภอเมืองสงขลา และนายแพทย์อนุรักษ์ สารภาพ รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา ร่วมแถลงข่าวสถานการณ์โควิด-19 และมาตรการต่าง ๆ ในช่วงสถานการณ์โควิด

โดยนายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ได้กล่าวถึง กรณีที่ ศบค. ให้มีมาตรการผ่อนปรนในหลายเรื่อง    แต่จังหวัดสงขลายังคงมีมาตรการเข้ม  อาทิ   เรื่อง การผ่อนปรนการนั่งรับประทานอาหารในร้านได้  แต่จังหวัดสงขลายังคงมาตรการควบคุมการนั่งทานอาหารในระยะเวลาที่กำหนด    และมาตรการการควบคุมพื้นที่เสี่ยง  การห้ามการมั่วสุม

จากที่จำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มสูงขึ้น  ทางจังหวัดสงขลาได้เตรียมพร้อมในเรื่องโรงพยาบาลสนามเพื่อรองรับผู้ป่วย  ขณะนี้เปิดทำการอยู่ 6 แห่ง  แต่หากพื้นที่ไหนสามารถขยายพื้นที่ได้ก็จะขยายเพิ่ม   และจะเปิดโรงพยาบาลสนามอีก  4 แห่ง โดยจะเริ่มทยอยเปิดเริ่มตั้งแต่วันที่ 24 มิถุนายน 64   นอกจากนี้ได้ให้ชุมชน เตรียมสถานที่กักตัวของกลุ่มเสี่ยงต่ำในอำเภอหรือตำบลที่มีการแพร่ระบาดมาก   พร้อมทั้งกำชับให้ควบคุมการดำเนินกิจกรรมที่มีความเสี่ยง  เน้นให้แต่ละพื้นที่สร้างการรับรู้ให้พี่น้องประชาชน

ด้านนายแพทย์อนุรักษ์   สารภาพ  รองนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสงขลา   ได้กล่าวถึงการพบผู้ติดเชื้อในกลุ่มพนักงานโรงงานสงขลาแคนนิ่ง   ได้มีการจัดกลุ่มผู้ติดเชื้อเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่กลุ่มแรงงานต่างด้าวในแคปม์คนงานได้จัดระบบให้มีการกักตัวภายในโรงงาน จำนวน 1100 คน  ส่วนผู้ติดเชื้อ  60 คน ได้นำไปรักษาที่โรงพยาบาล  ส่วนแรงงานไทย ที่มีผ่านการตรวจคัดกรอง และพบว่าติดเชื้อ  และมีความเสี่ยงสูง  ก็จะนำเข้าสู่ระบบ Factory Quarantine    อีกส่วนหนึ่งที่อยู่ในพื้นที่ เช่น อำเภอจะนะ  สิงหนคร  สทิงพระ  จะให้เข้าสู่ระบบ  Home Quarantine   ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลาจะร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขอำเภอ จะลงไปตรวจคัดกรอง  ในการบริหารจัดการกับพนักงานโรงงานสงขลาแคนนิ่งได้มีการคัดแยกกลุ่มเสี่ยงเป็น  3  กลุ่ม  คือคนที่มีความเสี่ยงสูง ความเสี่ยงกลาง  และความเสี่ยงต่ำ      แล้วแยกตรวจตามความเสี่ยง ขณะนี้ได้มีการนัดหมายกับผู้บริหารโรงงานเพื่อร่วมกันวางแผนการจัดการ

ด้านนายชัยพร  นิยมแก้ว  นายอำเภอเมืองสงขลา   กล่าวถึงมาตรการในการควบคุมกลุ่มเสี่ยงทั้งในคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรม   และชุมชน ทางอำเภอมีมาตรการในการดูแลพื้นที่ โดยได้จัดฝ่ายให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง  ท้องถิ่น  และสาธารณสุข ร่วมกันดูแลประชาชนที่ต้องกักตัว มีการประเมินความพร้อมของครอบครัว  ซึ่งหากที่บ้านของกลุ่มเสี่ยงมีความพร้อมก็ให้กักตัวอยู่บ้าน (Home Quarantine)   แต่ถ้าไม่พร้อมก็จะให้ไปอยู่ใน Local Quarantine      ในส่วนของผู้ที่คิดว่าตนเองนั้นมีความเสี่ยงและหากต้องการตรวจคัดกรอง   เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจะตรวจทามไลน์ก่อน      ส่วนการเข้มงวดในมาตรการตามคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อเพื่อเป็นการป้องกันการแพร่ระบาด    ทางอำเภอได้มีการออกตรวจอย่างต่อเนื่องพร้อมทั้งมีการบังคับใช้กฎหมายในกรณีที่มีการฝ่าฝืน

ในด้านการบังคับใช้กฎหมายแก่ผู้กระทำผิด  หรือฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อ  พลตำรวจตรีอาชาน ( อ่านว่า อา-ชา-นะ)    จันทร์ศิริ  ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา  กล่าวว่าทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ปฏิบัติตามมาตรการความมั่นคง เช่น การจับกุมผู้ลักลอบนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาในประเทศ   โดยได้มีการตั้งจุดตรวจ และตรวจค้น ผลการปฏิบัติงานช่วงโควิด-19 มีการจับกุมคนนำแรงงานต่างด้าวเข้ามา และจับกุมผู้ให้ที่พักพิงหลายคดี ส่วนการเข้มงวดกวดขันต่อผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลา เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถจับกุมได้  37 คดี  มีผู้ต้องหา 122  คน   ฝ่ายปกครองจับกุมได้  68 คดี  มีผู้ต้องหา  220  คน  รวม  105  คดี  ผู้ต้องหา 342  คน  ศาลพิพากษาแล้ว  47   คน   ส่วนใหญ่เป็นคดีมั่วสุม  ลักลอบเล่นการพนัน   ดื่มแอลกอฮอล์ การไม่สวมหน้ากากอนามัย ลักลอบขนย้ายแรงงานต่างด้าว   เป็นต้น

สำหรับการเปิดเรียนในระบบโรงเรียน นายวรณัฎฐ์   หนูรอต  รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่าผลการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดสงขลาได้มีมติในที่ประชุมวันนี้(23  มิ.ย.64) ว่าจะยังคงไม่อนุญาตให้มาเรียนในโรงเรียน แต่ให้นักเรียน  นักศึกษา  เรียนที่บ้านไปอีกระยะหนึ่งจนถึง  วันที่  12   ก.ค.64   โดยให้ทางสถานศึกษาทำการเรียนการสอนความเหมาะสม และความพร้อมของโรงเรียน นักเรียน  และ ผู้ปกครอง  

กรณีที่มีข่าวในเรื่องการปิดตลาด   ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลากล่าวว่าทางจังหวัดยังไม่มีนโยบายปิดตลาด แต่หากทางท้องถิ่นตรวจพบว่าในพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด   ให้ดำเนินการตามความเหมาะสม โดยทางจังหวัดขอให้การปิดเป็นแนวทางสุดท้าย   แต่ได้ให้แนวทางการจัดการตลาดให้เป็นไปตามมาตรการสาธารณสุข  มีมาตรฐาน    การจัดระเบียบร้านค้า  และผู้ไปซื้อสินค้า  การลดความแออัด   การทำความสะอาด  และหากพบว่ามีการแพร่ระบาดโควิด-19   และมีความจำเป็นต้องปิดตลาด ก็ให้ดำเนินการในการทำความทำความสะอาดตลาดทันที   พร้อมค้นหากลุ่มเสี่ยง

 ในเรื่องของวัคซีนป้องกันโควิด -19    จังหวัดสงขลาได้มีการยื่นเรื่องขอเพิ่มวัคซีนไปอีก 1 แสนโดส เพื่อจัดสรรฉีดให้แก่กลุ่มเสี่ยง   กลุ่มเปราะบาง   ผู้ที่ลงทะเบียนผ่านระบบหมอพร้อม  แอปปริเคชั่นของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลาซึ่งคาดว่าทางกระทรวงสาธารณสุขน่าจะจัดสรรมาให้เพิ่มเติมอีก  โดยทางนายพิพัฒน์  รัชกิจประการ   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา   นายนิพนธ์  บุญญามณี  รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย   และ สส.ทั้ง 8 คน ของจังหวัดสงขลาได้ประสานความร่วมมือในการช่วยจัดหาวัคซีนอีกทางหนึ่ง  นอกจากนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดสงขลา ได้ประสงค์จะจัดหาวัคซีนซิโนฟาร์ม จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จำนวน 3 องค์กร ได้แก่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา จำนวน 5 หมื่นโดส  เทศบาลนครหาดใหญ่ 5 หมื่นโดส และเทศบาลเมืองคลองแห 7000 โดส ซึ่งได้แจ้งความจำนงไปยังราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์แล้ว    รอการพิจาณาอีกสักระยะ    นอกจากนี้ทางโรงงานสงขลาแคนนิ่งก็ประสงค์จัดหาจัดซื้อวัคซีนด้วย ประมาณ 7000 โดส  เพื่อฉีดให้กับคนงาน 3500 คน ด้วย

จากที่มีการแชร์  ภาพอินโฟกราฟฟิค ว่าจังหวัดสงขลาประกาศปิดเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลายืนยันยังไม่มีการประกาศปิดเมือง แต่มีการล็อคดาวในชุมชนที่มีการแพร่ระบาดรุนแรง  โดยในชุมชนได้มีการตั้งด่าน   ห้ามบุคคลเข้า-ออกนอกพื้นที่ และ หากมีผู้เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยงจะต้องปฏิบัติตามมาตรการของจังหวัดอย่างเคร่งครัด

โอกาสนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาได้ขอความร่วมมือ  ประชาชน  ท้องถิ่นและชุมชน รวมทั้งผู้ประกอบการในโรงงานอุตสาหกรรม ให้ปฏิบัติตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด

 มุจรินทร์ ทองนวล /ข่าว

ฟารีด้า รอดกุบ /ภาพ

สำนักงานประชาสัมพันธ์จังหวัดสงขลา