วันอังคาร, 1 เมษายน 2568

ก.แรงงาน เร่งช่วยเหลือแรงงานทุกกลุ่มหลังเหตุแผ่นดินไหว “พิพัฒน์” นำวอร์รูมแรงงานกำหนดมาตรการเยียวยาครอบคลุมทุกมิติ “บุญสงค์” เดินหน้าขับเคลื่อนร่วมทุกกรม

วันที่ 29 มีนาคม 2568 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมวอร์รูม (War Room) คณะทำงานศูนย์ประสานงานและช่วยเหลือแรงงานผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุแผ่นดินไหว ณ กระทรวงแรงงาน พร้อมประชุมทางไกลกับสำนักงานแรงงานจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ โดยมี นางสาวบุปผา เรืองสุด รองปลัดกระทรวงแรงงาน นายสมาสภ์ ปัทมะสุคนธ์ รองปลัดกระทรวงแรงงาน ผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่จากทุกกรมในสังกัดเข้าร่วมอย่างพร้อมเพรียง

ภายใต้นโยบายของ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้มอบหมายให้กระทรวงแรงงานดูแลแรงงานที่ได้รับผลกระทบในทุกมิติ โดยใช้ศักยภาพของทุกกรมในกระทรวงอย่างเต็มที่ โดยที่ประชุมวอร์รูมได้กำหนดมาตรการช่วยเหลือแรงงาน ดังนี้ :

สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน

• จัดตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อรับเรื่องร้องทุกข์และอำนวยความสะดวกด้านข้อมูล

• อำนวยความสะดวกแรงงานในการออกหลักฐานทดแทนใบอนุญาตทำงานที่สูญหาย

• ประสานความร่วมมือกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ซ่อมแซมบ้านเรือนแรงงานที่เสียหาย

• เปิดช่องทางสายด่วน 0 2956 2923 – 27 และ 1506 กด 5 เพื่อให้คำปรึกษาและประสานความช่วยเหลือกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.)

กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.)

• ลงพื้นที่ร่วมตรวจสอบจุดเกิดเหตุ เช่น โครงการก่อสร้างอาคารสำนักงาน สตง. ซึ่งได้รับผลกระทบจากแผ่นดินไหว

• ตรวจสอบสภาพแวดล้อมการทำงานและความปลอดภัยของแรงงานในสถานประกอบการ

• เร่งหามาตรการเยียวยาแรงงานต่างชาติที่ได้รับผลกระทบในระหว่างปฏิบัติงาน

กรมการจัดหางาน (DOE)

• เตรียมแนวทางช่วยเหลือแรงงานที่ตกงานหรือขาดรายได้ เช่น การจัดหางานใหม่และสนับสนุนอาชีพอิสระ

• ประสานนายจ้างเพื่อดูแลแรงงานที่ได้รับผลกระทบ

• ประชาสัมพันธ์สิทธิแรงงานไทยและต่างชาติที่สามารถเข้าถึงได้

กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.)

• เตรียมแผนพัฒนาทักษะใหม่ให้แรงงานที่ได้รับผลกระทบ เพื่อฟื้นฟูศักยภาพและหางานใหม่

• จัดอบรมระยะสั้นในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

สำนักงานประกันสังคม (สปส.)

• เตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุแผ่นดินไหว

• พิจารณาจ่ายสิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน และประกันสังคมตามเงื่อนไข

นอกจากนี้ กระทรวงแรงงานยังร่วมกับ กองทุนเพื่อผู้ใช้แรงงาน เปิดโอกาสให้สถานประกอบกิจการที่มีสหกรณ์ออมทรัพย์สามารถกู้เงินได้ วงเงินรวม 20 ล้านบาท ดอกเบี้ย 2% ระยะเวลา 5 ปี เพื่อเสริมสภาพคล่องในภาวะวิกฤตประชาชนสามารถติดต่อศูนย์ช่วยเหลือแรงงานในพื้นที่ หรือ “วอร์รูมแรงงาน”

สายด่วนกระทรวงแรงงาน 1506 ได้ตลอดเวลา