วันเสาร์, 16 พฤศจิกายน 2567

ก.บ.จ.พัทลุงเห็นชอบแผนบูรณาการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน เพื่อพัฒนา”พัทลุงเมืองสมุนไพรครบวงจร”

คณะกรรมการบริหารงานจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.บ.จ.) จังหวัดพัทลุง ในการประชุมครั้งที่ 7/2564  วันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ณ ห้องกาบบัว ชั้น 5  ศาลากลางจังหวัดพัทลุง ได้เห็นชอบแผนบูรณาการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกันเพื่อพัฒนา “พัทลุงเมืองสมุนไพรครบวงจร 2566-2570”
รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณได้นำเสนอและกล่าวถึงที่มาแผนบูรณาการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน เพื่อพัฒนา”พัทลุงเมืองสมุนไพรครบวงจร” พ.ศ. 2566-2570 เป็นความความร่วมมืออันเข้มแข็งระหว่างมหาวิทยาลัยทักษิณ หน่วยปฏิบัติการส่วนหน้ากระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ “อว.ส่วนหน้า” สำนักงานจังหวัดพัทลุง หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม และองค์ชุมชนในจังหวัดพัทลุง ที่ได้ริเริ่มแนวคิดและการผลักดันเชิงนโยบาย “การพัฒนาและนวัตกรรมการพัฒนาเชิงพื้นที่” จังหวัดพัทลุงเป็นเมืองสมุนไพรครบวงจร   (Phatthalung Herbal Hub One-Stop of Southern Thailand)  

 อันเนื่องมาจากฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อุดมสมบูรณ์ ทรัพยากรบุคคล ภูมิปัญญา องค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรมที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่ว่าด้วยการสร้างความสามารถในการแข่งขัน แผนพัฒนาชาติฯ ฉบับที่ 12 ที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจได้อย่างยั่งยืน และแผนแม่บทแห่งชาติว่า ด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 แผนยุทธศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยทักษิณ พ.ศ.2564 -2568 (TSU-Social Innovation Movement; TSU SIM Movement)  และความต้องการเชิงพื้นที่ภายใต้วิสัยทัศน์พัทลุงเมืองเกษตรอินทรีย์ วิถียั่งยืน

แผนบูรณาการขับเคลื่อนไทยไปด้วยกัน พัฒนา”พัทลุงเมืองสมุนไพรครบวงจร” พ.ศ. 2566-2570 มีเป้าหมายสำคัญเพื่อส่งเสริมสนับสนุนประชาชนในพื้นที่ตระหนักถึงคุณค่าการใช้ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรและใช้สมุนไพรในชีวิตประจำวัน บุคลากรและเครือข่ายพืชสมุนไพรมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ และทักษะอาชีพขั้นสูง โครงสร้างพื้นฐานเพิ่มศักยภาพการแข่งขันการเข้าสู่การผลิตสมุนไพรภาคอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์สมุนไพรและการใช้สมุนไพรในระบบบริการเชิงสุขภาพพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดจากฐานรากของชุมชน และเชื่อมโยงสมุนไพรกับการพัฒนาจังหวัดให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของภาคใต้ ประกอบด้วย ประเด็นเชิงยุทธศาสตร์ 6 ด้าน ดังนี้ (1) การรวบรวมพันธุกรรมพืชสมุนไพรอัตลักษณ์พื้นถิ่นเพื่อยกระดับและเพิ่มศักยภาพการผลิตในจังหวัด (2) พัฒนากำลังคนและยกระดับเครือข่ายด้านการแพทย์แผนไทยเพื่อเพิ่มศักยภาพทักษะวิชาชีพ (3) พัฒนาและส่งเสริมการผลิตพืชสมุนไพรตามมาตรฐานการผลิตให้ได้ปริมาณและสารสำคัญเพื่อส่งเสริมคุณภาพวัตถุดิบและผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีมูลค่าสูง (4) พัฒนาคุณภาพวัตถุดิบสมุนไพรเพื่อการแปรรูปและยกระดับมูลค่าผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันจากฐานราก (5) ยกระดับแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพด้านสมุนไพรให้มีมูลค่าสูงเชื่อมโยงอย่างเป็นระบบ ครบวงจร และเป็นต้นแบบที่สำคัญของภาคใต้ และ (6) พัฒนาดิจิทัลแพลตฟอร์มเพื่อยกระดับนวัตกรรมสมุนไพรครบวงจร และได้กำหนดประสิทธิภาพของแผนบูรณาการฯ ด้วยผลสัมฤทธิ์สุดท้าย (Key Result) ด้วยผลผลิต (Output) ผลลัพธ์ (Outcomes) ผลกระทบ (Impact) กิจกรรม ที่มีหน่วยงานเจ้าภาพหลัก-เจ้าภาพร่วมที่จะทำหน้าบูรณาการแผนฯในแต่ละกิจกรรมโครงการย่อยที่ชัดเจน

รองศาสตราจารย์ ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า แผนนี้ได้ผ่านกระบวนการระดมความคิดเห็น การมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางในทุกระดับ จะเป็นเครื่องมือ กลไกสำคัญในการปฏิบัติการขับเคลื่อนให้พัทลุงเป็นเมืองสมุนไพรแบบครบวงจร ตอบสนองความต้องการในสังคมวิถีใหม่อย่างมั่นคงและยั่งยืน