วันเสาร์, 16 พฤศจิกายน 2567

กูรูสิ่งแวดล้อม ชวนคนไทยรวมพลัง “ลดโลกรวน” เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก

กฟผ. ระดมเหล่าคนรักษ์โลกเสนอแนวทางกู้วิกฤตโลกรวน ชวนคนไทยสร้างอากาศบริสุทธิ์และ สิ่งแวดล้อมที่ดี เริ่มได้ที่ตัวเอง เสนอให้องค์การต่างๆ กำหนดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมให้ชัดเจน กู้วิกฤตโลกรวนร่วมกัน พร้อมเชิญชวนชมนิทรรศการรักษ์โลกแบบออนไลน์ “Green For ALL…รักษ์สิ่งแวดล้อม เพื่อโลก เพื่อเรา” ได้ที่ https://env64.egat.co.th/

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดงานวันสิ่งแวดล้อม กฟผ. เนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก 5 มิถุนายน ของทุกปี ด้วยการจัดเสวนาแบบ Live สด ในหัวข้อ “ภาวะโลกรวน ป่วนลมหายใจ” เพื่อร่วมหาทางออกในการกู้วิกฤตสภาพอากาศของโลก กับคนดังด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ ดร.รวีวรรณ ภูริเดช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล กรรมการ กฟผ. และรองคณบดีด้านยุทธศาสตร์และนวัตกรรม คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. และผู้ดำเนินรายการ นายพิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร พิธีกร และนักออกแบบเพื่อความยั่งยืน ร่วมเสวนาผ่านเฟซบุ๊ก กฟผ. การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่ www.facebook.com/EGAT.Official

ดร.รวีวรรณ ภูริเดช ให้แนวคิดว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นเรื่องที่มีความสำคัญระดับโลก นานาประเทศต่างผนึกกำลังร่วมกันแก้ปัญหานี้ จากการจัดอันดับพบว่าประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณร้อยละ 0.8 ของการปล่อยทั้งโลก โดยเฉพาะภาคพลังงานและภาคขนส่ง และยังเป็นประเทศที่ได้รับความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นลำดับที่ 8 ของโลกอีกด้วย สำหรับ สผ. จึงได้ร่วมมือกับทุกภาคส่วนกำหนดนโยบายและแผนเพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเร่งด่วน นอกจากนี้แล้ว เราทุกคนต้องช่วยกันดูแลสิ่งแวดล้อมโดยเริ่มที่ตัวเราก่อน ในฐานะที่ทุกคนเป็นผู้บริโภค สามารถเลือกสินค้าหรือบริการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกเครื่องใช้ไฟฟ้าเบอร์ 5 การเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เช่น การใช้รถไฟฟ้าในเมืองแทนการขับรถยนต์ส่วนตัว เป็นต้น รวมถึงช่วยกันปลูกต้นไม้ให้เพิ่มขึ้น และสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทน

ศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล ให้ทัศนะว่า ปัญหาสภาพอากาศทั้งการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกและมลพิษทางอากาศล้วนแล้วแต่เกิดขึ้นจากกิจกรรมของมนุษย์ทุกคน โดยปัญหาฝุ่น PM2.5 ถือเป็นประเด็นที่สำคัญที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน รวมถึงกลุ่มอื่น ๆ อาทิ การศึกษา สื่อมวลชน และสตาร์ทอัพ ซึ่งแต่ละองค์กรต้องมีบทบาทในการสร้างสิ่งแวดล้อมให้เกิดความยั่งยืนร่วมกัน โดยการกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมและนำมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยมีหลักการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมองค์กรแบบมีส่วนร่วม (Cooperate Environmental Management: CEM) เป็นเครื่องมือ นอกจากนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังได้ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรต่าง ๆ รวมถึง กฟผ. พัฒนานวัตกรรมการตรวจวัดและคาดการณ์คุณภาพอากาศผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน Sensor for All ให้บริการข้อมูลสถานการณ์และคาดการณ์คุณภาพอากาศ เพื่อให้หน่วยงานและประชาชนสามารถวางแผนในทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันและร่วมดูแลสภาพอากาศให้ดีขึ้น อันเป็นการใช้ผลจากงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมมาร่วมกับการจัดการข้อมูลที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเมื่อประกอบกับการสื่อสารนโยบายสิ่งแวดล้อมขององค์กรไปสู่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกมิติ รวมถึงการบริหารจัดการองค์ความรู้และนวัตกรรมที่เกิดขึ้นอย่างทั่วถึง ก็จะช่วยในการจัดการปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ไปจนถึงการขับเคลื่อนให้ประเทศบรรลุเป้าหมายในการเป็นสังคมที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ได้ในอนาคต

ด้าน นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร เล่าถึงแนวคิดในการดูแลสิ่งแวดล้อมว่า กฟผ. ตระหนักถึงปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมาโดยตลอด โดยมีส่วนผลักดันการบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจกภาคพลังงานตั้งแต่ปี 2549 ทั้งยังให้ความสำคัญในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมควบคู่การดำเนินภารกิจหลักในการผลิตและส่งไฟฟ้า เช่น ศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมก่อนการดำเนินโครงการ ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยมีประสิทธิภาพสูงในการผลิตไฟฟ้าและการบำบัดมลสาร ปลูกป่ากว่า 4.7 แสนไร่ ซึ่งช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้มากถึง 9.74 ล้านตัน/ปี ส่งเสริมการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าประสิทธิภาพสูงผ่านโครงการฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 พัฒนาระบบเฝ้าระวังคุณภาพอากาศเพื่อพยากรณ์ข้อมูลคุณภาพอากาศรอบโรงไฟฟ้า ใช้นวัตกรรมผลิตไฟฟ้าแบบไฮบริดช่วยลดความไม่แน่นอนของพลังงานหมุนเวียน ได้แก่ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี นอกจากนี้ ยังแบ่งปันข้อมูลด้านการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพกับด้านสิ่งแวดล้อมผ่านโครงการห้องเรียนสีเขียว เป็นต้น โดยอาศัยกลยุทธ์ EGAT Air T-I-M-E ขับเคลื่อนการดำเนินงาน เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดีและอากาศบริสุทธิ์ให้กับโลก ประกอบด้วย T-Tree & Tourism การเพิ่มพื้นที่สีเขียวและสนับสนุนการท่องเที่ยวแบบยั่งยืน I-Innovation การพัฒนานวัตกรรมเพื่อดูแล ลดปัญหา และจัดการคุณภาพอากาศ M-Monitoring การตรวจวัดและแสดงผลคุณภาพอากาศให้ประชาชนตระหนักและปรับพฤติกรรม และ E- Education & Engagement การสื่อสารความรู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อสร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลสิ่งแวดล้อม

นายพิพัฒน์ อภิรักษ์ธนากร หรือท็อป ให้มุมมองว่า เรื่องสิ่งแวดล้อมไม่ใช่เรื่องของคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกคนที่ต้องช่วยกันดูแลรักษาโลกใบนี้ ทั้งเพื่อตนเองและลูกหลานรุ่นต่อไป ซึ่งในภาคประชาชนสามารถเริ่มได้ง่าย ๆ เช่น การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยพกกระบอกน้ำ พกปิ่นโต ใช้ถุงผ้า เพื่อลดการใช้พลาสติก หรือในภาคเอกชนที่ต้องมุ่งเน้นการดำเนินธุรกิจด้วยความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และภาครัฐออกกฎหมายรักษาสิ่งแวดล้อมให้ทุกคนอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์เดียวกัน หรือแม้กระทั่งภาคการศึกษา สามารถนำองค์ความรู้หรือแนวคิดด้านสิ่งแวดล้อมไปสอดแทรกในการเรียนการสอนเพื่อเสริมสร้างทัศนคติในการรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดีให้กับเยาวชนได้อีกทาง

สำหรับสายกรีนและประชาชนทั่วไปสามารถศึกษาข้อมูลด้านสิ่งแวดล้อมได้ที่นิทรรศการออนไลน์ (E- Exhibition) ผ่านทางเว็บไซต์ https://env64.egat.co.th/ ที่จะได้สัมผัสประสบการณ์รูปแบบใหม่ด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานผ่านโลกออนไลน์ โดยรวบรวมความรู้และความสนุกมาไว้อย่างหลากหลาย ได้แก่ การดูแลคุณภาพอากาศ การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก นวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของ กฟผ. โครงการสิ่งแวดล้อมเพื่อชุมชน โครงการรักษ์โลก และโครงการโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดใหญ่ที่สุดในโลกของเขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี โดยผู้ร่วมเล่นเกมในนิทรรศการและผู้ตอบแบบสอบถามบนเว็บไซต์ ระหว่างวันที่ 2 – 30 มิถุนายน 2564 จะมีสิทธิ์ลุ้นรับของที่ระลึกจาก กฟผ.