วันอาทิตย์, 12 มกราคม 2568

กอ.รมน. เสริมกรณีคดีตากใบมีการดำเนินงานทั้งเรื่องกฎหมายคดีความ และการเยียวยามาโดยตลอด

พลตรีวินธัย สุวารี โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) กล่าวว่า ตามที่ได้มีการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชนหลายสำนักต่อกรณี “เหตุการณ์ตากใบ” เพื่อทำความเข้าใจในข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในอดีตเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา หน่วยงานแก้ปัญหา จชต.ในช่วงนั้น มีลักษณะเป็นคณะทำงานเฉพาะกิจ ในชื่อ กองอำนวยการเสริมสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ (กอ.สสส.จชต.) มีลำดับเหตุการณ์สำคัญ และการดำเนินการต่างๆ ของทางรัฐบาลในส่วนของกระบวนการยุติธรรม และการดูแลเยียวยา ดังนี้ เหตุการณ์สำคัญ เมื่อ 19 ตุลาคม 2547 เจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมตัวผู้กระทำผิด รวมจำนวน 6 คน ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน ในฐานความผิดร่วมกันสมคบคิด แจ้งความเท็จ และยักยอกอาวุธปืนของทางราชการ ต่อมาวันที่ 25 ตุลาคม 2547 ประชาชนจำนวนมากชุมนุมประท้วง หน้าสถานีตำรวจภูธรตากใบ เพื่อเรียกร้องกดดันให้ปล่อยตัวผู้กระทำผิดทั้ง 6 คน เจ้าหน้าที่ตำรวจได้พยายามชี้แจงเจรจาเกลี้ยกล่อม แต่ผู้ชุมนุมไม่ยอมยุติ กลับมีผู้ชุมนุมเพิ่มมากขึ้น ซึ่งเหตุการณ์ได้ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น มีการแสดงออกเชิงต่อต้านด้วยการใช้กำลัง และบุกเข้าไปในสถานีตำรวจ ทำร้ายเจ้าหน้าที่ นอกจากนั้นกลุ่มผู้ชุมนุม ยังได้นำอาวุธปืนที่ซุกซ่อนไว้บริเวณตามแนวริมตลิ่งแม่น้ำโกลกมาใช้ก่อเหตุ จนเหตุการณ์ได้เข้าขั้นวิกฤต เป็นเหตุให้ มีเจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บ ตำรวจ 37 นาย และทหาร10 นายรวมทั้งสิ้น 47 นาย ดังนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจทหารจึงมีความจำเป็นต้องระดมกำลังเพื่อเข้าระงับเหตุการณ์โดยเร่งด่วน มีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง มีผู้ชุมนุมถูกควบคุมตัวจำนวน 1,370 คน โดยการลำเลียงผู้ชุมนุม เพื่อนำตัวไปฝากไว้ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ด้วยรถยนต์บรรทุก จำนวน 28 คัน มีการเดินทางเป็นสองระลอก ระลอกแรกถึงที่หมายช่วงเย็น ไม่มีปัญหาในการเคลื่อนย้าย ส่วนระลอกที่สอง ถึงช่วงดึก พบมีผู้ถูกควบคุมบนรถบางส่วนเสียชีวิตเนื่องจากขาดอากาศเมื่อมาถึงที่หมาย ผลการดำเนินการทางคดี จึงมีการดำเนินการไปตามลักษณะพฤติการณ์ของคดี แยกเป็น 5 กรณีสำคัญ แบ่งเป็นคดีอาญา 4 คดี และคดีแพ่ง 1 คดี การดำเนินการของรัฐบาล จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น รัฐบาลได้ดำเนินการทุกวิถีทาง ซึ่งนายกรัฐมนตรีในสมัยนั้น ได้ออกมาแถลงกล่าว”ขอโทษ” จากความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และไม่ได้ละเลยกับปัญหาที่เกิดขึ้น จนนำไปสู่การแต่งตั้ง “คณะกรรมการอิสระสอบข้อเท็จจริง” ซึ่งเป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน ทำให้ต่อมามีการเจรจาผู้ได้รับผลกระทบ นำไปสู่ให้มีผู้ที่ได้รับการเยียวยา จำนวน 978 ราย คิดเป็นเงิน 641,493,200 บาท โดยเป็นการจ่ายเพื่อให้ “กรณีพิเศษ” ผลสอบข้อเท็จจริงสำคัญโดยคณะกรรมการอิสระฯ พบว่า จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผู้เริ่มก่อเหตุการณ์ คือ กลุ่มแกนนำบางคนที่ต้องการให้สถานการณ์ยืดเยื้อและมีความรุนแรง ทางเจ้าหน้าที่ซึ่งเป็นฝ่ายเข้าไปดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย แต่ละคนได้ปฏิบัติหน้าที่ของตนภายใต้ข้อจำกัดหลายประการ และไม่ได้มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดการเสียชีวิต บาดเจ็บ และการเสียชีวิตของผู้ชุมนุมจำนวนมากระหว่างการเคลื่อนย้ายจาก สภ.อ.ตากใบมายังค่ายอิงคยุทธบริหารนั้น เป็นสิ่งที่ไม่มีใครคาดถึง และไม่มีเจตนาที่จะให้เกิดเหตุการณ์ที่เศร้าสลดเช่นนั้น อีกทั้งพบว่า ผู้ชุมนุมได้เตรียมการนำอาวุธเข้ามาร่วมการชุมนุม และหลังจากสลายการชุมนุมได้พบอาวุธในแม่น้ำ และจากการยึดของเจ้าหน้าที่บางส่วน เช่น อาวุธสงคราม เครื่องกระสุน ระเบิด มีดดาบ และพบร่องรอยโรงพักถูกยิง “ซึ่งหากไม่สลายการชุมนุม เหตุการณ์มีแนวโน้มลุกลามบานปลาย และอาจนำไปสู่การเผาสถานีตำรวจตากใบ เพราะพบว่าแกนนำผู้ชุมนุมมีการเตรียมการมาก่อน” สำหรับประเด็นการลำเลียงเคลื่อนย้ายผู้ชุมนุม เพื่อนำตัวไปฝากควบคุมไว้ที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร อ.หนองจิก จ.ปัตตานี ด้วยรถยนต์บรรทุก จำนวน 28 คัน ระหว่างการเดินทาง ยังมีการก่อเหตุสร้างสถานการณ์ขัดขวางตลอดเส้นทาง 150 ก.ม. บางช่วงมีการหยุดขบวน มีการวางตะปูเรือใบ ทำให้การเคลื่อนย้ายเป็นไปด้วยล่าช้า ใช้เวลาประมาณ 5 ชั่วโมง สำหรับขบวนขนย้ายระลอกแรกจำนวน 8 คัน ผู้ถูกควบคุมประมาณ 400 คน การบรรทุกไม่แออัดสามารถมารถลงรถเองได้ตามปกติ ถึงที่หมายเวลา 17.30 น. โดยพบมีผู้เสียชีวิต 1 ราย ศีรษะถูกตีด้วยของแข็ง แต่ในส่วนขบวนที่สองทยอยมาถึงในช่วงหลัง 22.00 น. ซึ่งเมื่อมาถึงพบว่ามีผู้เสียชีวิตจำนวนมากเนื่องจากการขาดอากาศระหว่างการขนย้าย โดยความสูญเสียที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่คาดการณ์ไม่ถึง ไม่ใช่เกิดจากความจงใจเจตนาของเจ้าหน้าที่ โดยพบว่าเจ้าหน้าที่มีข้อจำกัดหลายประการในการควบคุมการชุมนุม และไม่มีประสบการณ์ในการเคลื่อนย้ายผู้ถูกควบคุมเป็นจำนวนมากจากระยะทางไกล ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ได้ผ่านไปนานแล้ว แต่รัฐบาลหลายรัฐบาลได้ดำเนินการดูแลมาเป็นขั้นเป็นตอนตามลำดับ โดยการแก้ปัญหา จชต. นับแต่อดีตจนปัจจุบัน การสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้มีพัฒนาการที่ดีมาตามลำดับ โดยเฉพาะการนำบทเรียนที่สำคัญในอดีตมาปรับปรุงใช้เป็นองค์ประกอบให้การทำงานในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพ พยายามไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดในเรื่องไม่ดี หรือในเรื่องที่อาจส่งผลกระทบต่อการแก้ปัญหาในปัจจุบัน