วันอาทิตย์, 16 กุมภาพันธ์ 2568

กรณีเจ้าหน้าที่เชิญตัว นาย อับดุลอาฟิร เซ็ง เนื่องจากพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับฐานความผิด “ยุยงปลุกปั่น” และ “นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์”

 ด้วยปรากฎข้อเท็จจริงจากการสืบสวนและการตรวจสอบข้อมูลจากสื่อออนไลน์ พบว่า นายอับดุลอาฟิร เซ็ง ได้มีพฤติกรรมการกระทำในลักษณะอันเข้าข่ายการกระทำความผิดกฎหมายในฐานความผิดข้อหายุยงปลุกปั่น และนำข้อมูลหรือเนื้อหาที่ไม่เป็นไปตามข้อเท็จจริงเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยมีเนื้อหาในเชิงปลุกปั่นยุยงให้ประชาชนเกิดความแตกแยกและเกลียดชังเจ้าหน้าที่ กล่าวคือ เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 นายอับดุลอาฟิรฯ ได้โพสต์ข้อความลงในเพจเฟสบุค กรณีเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย และเกิดเหตุยิงปะทะกับคนร้ายในพื้นที่บ้านคลองช้าง ต.นาเกตุ อ.โคกโพธิ์ จ.ปัตตานี โดยมีเนื้อหาสรุปได้ว่า “ในวันแรกที่มีการบังคับใช้กฎหมาย เจ้าหน้าที่แจ้งว่ากลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงขว้างระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ แต่ที่แท้เจ้าหน้าที่ได้เดินไปเหยียบกับระเบิด ทำให้เจ้าหน้าที่เสียชีวิต 2 ราย บาดเจ็บสาหัส 4 ราย และต่อมาผู้บาดเจ็บสาหัสได้เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมเป็น 3 ราย” ซึ่งข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าว มีเจ้าหน้าที่เสียชีวิต 1 นาย และบาดเจ็บเพียง 2 นาย เท่านั้น รวมทั้งเนื้อหาในการนำเสนอข้อมูลของนายอับดุลอาฟิรฯ ยังได้สื่อให้เห็นถึงความพยายามในการยุยงปลุกปั่นให้ผู้อ่านหรือผู้ติดตามข้อมูลเกิดความรู้สึกแบ่งแยก และเคียดแค้นชิงชังต่อเจ้าหน้าที่รัฐ ตัวอย่างเช่น การเรียกเจ้าหน้าที่รัฐว่า “เจ้าหน้าที่สยาม”และเรียกกลุ่มผู้ก่อเหตุรุนแรงว่า “กองกำลังติดอาวุธ” ซึ่งหากประชาชนที่เข้าไปอ่านหรือติดตามข้อมูลและแสดงความคิดเห็น อาจทำให้เกิดความสับสน หรือเข้าใจผิดต่อเจ้าหน้าที่ และเกิดกระแสความเกลียดชังเจ้าหน้าที่รัฐที่ปฏิบัติงาน การกระทำดังกล่าว ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และความมั่นคงแห่งรัฐโดยโพสต์ดังกล่าวได้มีผู้เข้ามากดถูกใจ 283 ครั้ง แสดงความคิดเห็น 20 ครั้ง และ แชร์ต่อ 53 ครั้ง

ต่อมาเมื่อวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2568 หน่วยปฏิบัติการพิเศษร่วมจังหวัดปัตตานี ซึ่งประกอบกำลังร่วม 3 ฝ่าย ได้แก่ ตำรวจ ทหาร และฝ่ายปกครอง ได้อาศัยอำนาจตามกฎหมายความมั่นคง เชิญตัว นายอับดุลอาฟิร เซ็ง มาสอบถามข้อมูล เพื่อขอทราบเหตุผลของการกระทำที่อาจเข้าข่ายลักษณะความผิดตามที่กล่าวมา รวมทั้งเพื่อสร้างความเข้าใจข้อเท็จจริงที่ถูกต้องในการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ในกรณีการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งในระหว่างการพูดคุยซักถาม นายอับดุลอาฟิรฯ ได้แสดงความเป็นมิตร และให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างดี โดยให้การยอมรับว่าเป็นแอดมินเพจ ที่เผยแพร่ข้อมูลตามที่กล่าวมาจริง

สำหรับในระหว่างการเชิญตัว นายอับดุลอาฟิรฯ นั้น เจ้าหน้าที่ได้ปฏิบัติตามขั้นตอนของกฎหมายและหลักสิทธิมนุษยชนอย่างเคร่งครัด โดยจัดให้มีการตรวจสุขภาพร่างกาย อนุญาตให้บิดา มารดา หรือญาติ เข้าเยี่ยมได้ตามเวลาที่กำหนด และการปฏิบัติศาสนกิจตามหลักศาสนา ทั้งนี้ เมื่อเสร็จสิ้นกรรมวิธีตามขั้นตอนต่างๆ แล้ว นายอับดุลอาฟิรฯ จะได้รับการปล่อยตัวในวันจันทร์ที่ 17 กุมภาพันธ์ 2568 ต่อไป