วันศุกร์, 10 มกราคม 2568

กฟผ. และคณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.อ. ร่วมลงนาม MOU พัฒนาเทคโนโลยีพลังานไฟฟ้าของภาคใต้

วันที่ 10 สิงหาคม 2563 ณ ห้องประชุมดงยาง 1 คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) และนายเริงชัย คงทอง รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกันลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โดยตั้งเป้าหมายนำทฤษฎีออกไปประยุกต์ใช้ได้จริง เพื่อการพัฒนาภาคใต้ พร้อมมุ่งเน้นส่งเสริมงานวิจัยเพื่อการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าของภาคใต้

โดยใช้การวิจัยแก้ไขปัญหาและพัฒนางาน โดยมี ผศ.นพ.สุนทร วงษ์ศิริ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม รศ.ดร.ธนิต เฉลิมยานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมด้วยนายผล ขวัญนุ้ย ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคใต้ (กฟผ.) ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือ

ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาสงขลานครินทร์ กล่าวว่า “ม.อ. ยินดีเป็นอย่างยิ่งสำหรับความร่วมมือกันในครั้งนี้ โดย MOU ฉบับนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่ ม.อ. ได้ทำร่วมกับ กฟผ. เพราะมหาวิทยาลัยเป็นหน่วยงานและสถาบันการศึกษาที่มียุทธศาสตร์มุ่งเน้นการทำวิจัยเชิงรุก และมีความพร้อมในการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอก ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ในการสร้างกลุ่มวิจัยเชิงบูรณาการ เพื่อให้สอดคล้องและสามารถแก้ปัญหาของประเทศ มุ่งเน้นการสนับสนุนทุนและบริหารจัดการงานวิจัยเชิงบูรณาการ ความร่วมมือในครั้งนี้จึงเป็นโครงการทีดีของการส่งเสริมและสนับสนุนกลยุทธ์ ความร่วมมือกับหน่วยงานภายนอกที่อยู่ในระบบวิจัยที่ทำหน้าที่สนับสนุนทุนวิจัย บริหารงานวิจัย เพื่อร่วมขับเคลื่อนงานวิจัยและนวัตกรรม รวมถึงเป็นโอกาสอันดีของการสร้างแรงจูงใจให้นักวิจัยของ ม.อ. และ กฟผ. ได้สร้างสรรค์ผลงานร่วมกัน และเพิ่มขีดความสามารถในการทำวิจัยของบุคลากร ซึ่งหวังว่าความร่วมมือในครั้งนี้ทั้ง 2 หน่วยงาน จะได้นำผลงานวิจัยต่าง ๆ ไปประยุกต์ใช้งานให้ตรงกับความต้องการของชุมชนและสังคมในพื้นที่ภาคใต้ สร้างความเข้มแข็งให้กับบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนางานวิจัยให้มีความเป็นเลิศในสาขาที่มีความพร้อม โดยเฉพาะคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่มีศักยภาพของคณาจารย์ ทีมนักวิจัยที่การถ่ายทอดองค์ความรู้จากงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การนำไปใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาท้องถิ่นและสังคมจากการต่อยอดงานวิจัยและนวัตกรรม”

นายเริงชัย คงทอง รองผู้ว่าการระบบส่ง (กฟผ.) เปิดเผยว่า “ได้เห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถในการพัฒนางานด้านการวิจัย ด้านเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้า โดยมุ่งเน้นการพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่และเห็นว่าในพื้นที่ภาคใต้มีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยหลักมีรากฐานในงานด้านวิศวกรรมมาเป็นเวลานาน มีบุคลากรที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นจำนวนมาก เหมาะสมที่จะนำความรู้ความสามารถของบุคลากรมาทำการวิจัยในปัญหางานที่เกิดขึ้นในระบบการผลิตและระบบส่งของ กฟผ. ในพื้นที่ภาคใต้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาเทคโยโลยีด้านพลังงานไฟฟ้ารวมไปถึงการพัฒนาเครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่มีให้เกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าสูงสุดเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ความมั่นคงในระบบไฟฟ้า สิ่งแวดล้อม และสังคมโดยรวม โดยตั้งแต่ปี 2551 กฟผ.ได้สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่ ม.อ. ไปแล้วรวม 16 โครงการ เช่น การทำวิจัยและพัฒนาระบบประชุมสั่งการทางไกลด้วยมัลติมีเดียผ่านเว็บสำหรับสถานีไฟฟ้าแรงสูง โครงการบ้านปลาปะการังเทียมจากลูกถ้วยฉนวนไฟฟ้าพื้นที่นำร่องจังหวัดปัตตานี และจังหวัดนราธิวาส โครงการศึกษาวิจัยการใช้ปะการังเทียมเพื่อบูรณะทรัพยากรชายฝั่งกรณีศึกษาชายฝั่งทะเลอำเภอเทพา ฯลฯ นอกจากทุนวิจัยแล้ว กฟผ. ยังสนับสนุนเครื่องมือ อุปกรณ์การเรียนการสอน รวมไปถึงบุคลากร และเปิดให้อาจารย์และนักศึกษาสามารถทำวิจัย เข้าดูงาน ฝึกงานในโรงไฟฟ้า และสถานที่ต่าง ๆ ของ กฟผ. เพื่อให้เกิดความรู้เชิงประจักษ์ พร้อมทั้งสนับสนุนกิจกรรมทางวิชาการต่าง ๆ ของ ม.อ. อีกด้วย”

รศ.ดร.ธนิต เฉลิมยานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “ที่ผ่านมาคณะวิศวกรรมศาสตร์ดำเนินงานวิจัยร่วมกับ กฟผ. พร้อมได้รับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อจัดกิจกรรมทางวิชาการและกิจกรรมที่สร้างประโยชน์กับสังคมท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่อง มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนงานวิจัยและศึกษาวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดในระบบการผลิตพลังงานไฟฟ้าและระบบส่งกำลังไฟฟ้าของ กฟผ. เป็นการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ เช่น การพัฒนาระบบการเก็บเกี่ยวพลังงานไฟฟ้าจากสายส่งเพื่อใช้เป็นพลังงานให้แก่ระบบมอนิเตอร์สายส่ง การพัฒนาระบบอัจฉริยะสำหรับมอนิเตอร์หม้อแปลงและสถานีไฟฟ้าแรงสูง เพื่อเพิ่มเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า เป็นต้น โดยการลงนามความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้จึงเป็นความร่วมมือต่อเนื่องของการพัฒนาบุคลากรของทั้ง 2 หน่วยงาน สร้างโอกาสทางการศึกษาในงานวิจัยด้านเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าและนำความรู้ด้านวิศวกรรมไปสร้างประโยชน์ให้แก่ทั้ง 2 หน่วยงาน รวมถึงชุมชน สิ่งแวดล้อม และสังคมโดยรวม สามารถพัฒนาบุคลกรในพื้นที่ เสริมสร้างขีดความสามารถการบูรณาการด้านการวิจัยและพัฒนา เสริมสร้างองค์ความรู้ แลกเปลี่ยนความรู้ เพิ่มพูนความรู้ที่ทั้งสองฝ่ายมีความสนใจร่วมกัน เสริมสร้างให้ทั้งสอบหน่วยงานเป็นศูนย์กลางการฝึกอบรม ปฏิบัติการ ด้านเทคโนโลยีพลังงานไฟฟ้าในพื้นที่ภาคใต้ต่อไป”.