วันเสาร์, 11 มกราคม 2568

“กกพ.” ปรับลดขั้นตอน เร่งอัดฉีดเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้า สนับสนุนรัฐพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก

 “กกพ.” หนุนรัฐบาลพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากหลังวิกฤตโควิด-19 เบาบาง อนุมัติเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้ากว่า 2.8 พันล้านบาท ลงชุมชน หลังมีมติ “ยกเครื่อง” เกณฑ์การใช้เงินกองทุนฯ มุ่งยกประสิทธิภาพ เน้นกระจายอำนาจ สร้างความคล่องตัว ควบคู่การเพิ่มความโปร่งใส และธรรมาภิบาล

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2563 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อนุมัติเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศ หรือเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(3) เป็นจำนวนกว่า 2,800 ล้านบาท โดยวางเป้าหมายในการหนุนเสริมมาตรการของรัฐบาลในการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง พัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และลดผลกระทบทางสังคมจากวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า (โควิด-19)

“นอกเหนือจากการเร่งอนุมัติโครงการ เพื่อให้เม็ดเงินลงสู่ชุมชนโดยเร็วแล้ว สำนักงาน กกพ.ยังได้ปรับปรุงหลักเกณฑ์ และแนวปฏิบัติในการกำกับดูแล และบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(3) ในหลายประเด็น เพื่อสร้างความคล่องตัว ยกระดับประสิทธิภาพการใช้เงิน กระจายอำนาจ สร้างความโปร่งใส และลดขั้นตอนและระยะเวลาในการพิจารณาลง เพื่อให้เม็ดเงินได้ถูกอัดฉีดผ่านชุมชนอย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วย ซึ่งจะมีส่วนช่วยรัฐบาลในการแก้ไขปัญหา และพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากได้อีกทางหนึ่ง” นายคมกฤช กล่าว ในการแถลงข่าว

นายคมกฤช กล่าวว่า ในการทบทวนแนวปฏิบัติ และหลักเกณฑ์การบริหารจัดการเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าตามมาตรา 97(3) ของ กกพ. กำหนดจัดเป้าหมายและวิธีการได้ดังนี้

เป้าหมายแรก การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้เงิน การกำกับ และตรวจสอบการใช้เงินกองทุนเพื่อยกระดับการดำเนินงานให้มีธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ โดยเปลี่ยนหน่วยดำเนินการที่เป็นกลุ่มบุคคล 3 คน ให้อยู่ในรูปแบบของนิติบุคคลที่มีการรวมกันของคน เช่น วิสาหกิจชุมชน วิสาหกิจเพื่อสังคม สหกรณ์ และมูลนิธิ โดยวางเป้าหมายจะยกเลิกการดำเนินโครงการโดยกลุ่มบุคคล 3 คนให้หมดไปในปีงบประมาณ 2565

เป้าหมายที่สอง การสร้างและการกระจายการใช้เงินกองทุนให้มีมิติที่ชัดเจน ตรงเป้าหมาย และเกิดความยั่งยืนมากขึ้น ผ่านการปรับปรุงขอบเขตการใช้เงิน และจัดกลุ่มใหม่ให้มีความชัดเจนมากขึ้น ประกอบด้วยแผนงานหลัก 6 ด้าน ได้แก่ ด้านสาธารณสุข ด้านการศึกษา ด้านเศรษฐกิจชุมชน ด้านสิ่งแวดล้อม ด้านสาธารณูปโภค และด้านพลังงานชุมชน แต่ก็ยังมีแผนงานด้านที่ 7 ด้านอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาชุมชน ไว้รองรับโครงการชุมชนที่ไม่เข้าเกณฑ์ตามแผนงานหลัก

เป้าหมายที่สาม การกระจายอำนาจและเพิ่มอำนาจการพิจารณาอนุมัติ การเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกโครงการชุมชน ซึ่งดำเนินการควบคู่กับการตรวจสอบความซ้ำซ้อนและการพัฒนาในภาพรวมของผู้ว่าราชการจังหวัด หรือหน่วยราชการที่ได้รับมอบหมายในพื้นที่ ที่จะทำให้การพิจารณาโครงการมีความคล่องตัว รวดเร็วมากขึ้น และไม่ต้องกลับมาสู่ชั้นของการพิจารณาจาก กกพ. ในส่วนกลางอีก

นายคมกฤช กล่าวว่า สำหรับข้อห่วงใย และการนำเสนอความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในช่วงที่มีการรับฟังความคิดเห็น กกพ. ยังได้นำมาปรับปรุงในหลายประเด็น เพื่อให้เกิดความราบรื่นในการเปลี่ยนผ่านจากหลักเกณฑ์เดิมไปสู่หลักเกณฑ์ใหม่ด้วย อาทิ การเพิ่มผู้แทนภาครัฐในแผนงานหลักเพื่อเป็นพี่เลี้ยงให้กับคณะกรรมการพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.) โดยคงสัดส่วนจำนวนกรรมการจากภาคประชาชน เป็นสัดส่วน 2 ใน 3 ไว้ตามเดิม การให้อำนาจ คพรฟ. พิจารณาใช้เงินในแผนงานด้านที่ 7 เกิน 25 ล้านบาทได้ตามความจำเป็น แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 15 ตามที่ กกพ. กำหนด

การอนุโลมให้กลุ่มบุคคล 3 คน ยังสามารถเป็นหน่วยดำเนินการได้ภายในปีงบประมาณ 2564 ภายใต้วงเงินไม่เกิน 3 แสนบาทต่อโครงการไว้ตามเดิม และการให้บังคับใช้เกณฑ์การประกาศพื้นที่กองทุนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าใหม่เฉพาะกองทุนที่จัดตั้งหลังจากหลักเกณฑ์ใหม่มีผลบังคับใช้ เป็นต้น

โดยสำนักงาน กกพ. จะลงพื้นที่จัดเวทีสื่อสารแนวทางการดำเนินงานตามหลักเกณฑ์ใหม่ให้กับผู้เกี่ยวข้องในพื้นที่ประกาศกองทุนพัฒนาไฟฟ้าทั้ง 4 ภูมิภาค ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ภาคกลางและภาคตะวันออก และภาคใต้ ในเดือนตุลาคม – พฤศจิกายน 2563 นี้ เพื่อสร้างความเข้าใจและประโยชน์ในการปรับปรุงหลักเกณฑ์ครั้งนี้ ควบคู่ไปกับการเปิดรับความเห็นและข้อเสนอแนะเพื่อเป็นข้อมูลในการพิจารณาปรับปรุงการดำเนินงานของกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในพื้นที่ประกาศให้เกิดความเหมาะสมในลำดับต่อไป